ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยผลกระทบจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งจนเกินไป และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้การส่งออกเนื้อไก่ไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ไตรมาสแรกปีนี้ ผู้ประกอบการต้องขาดทุนจากค่าเงินแล้วกว่า 10% แม้ปริมาณความต้องการจะสูงอย่างต่อเนื่องก็ตาม จี้แบงก์ชาติหาทางช่วยเหลือผู้ส่งออกให้สามารถสู้กับคู่แข่งได้ หลังวงการเกษตรปศุสัตว์ไทยต้องแบกรับภาระขาดทุนแล้วหลายพันล้านบาท
วันนี้ (7 พ.ค.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ของประเทศ ได้ออกมาเปิดเผยถึงภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าจนเกินไป และปัจจุบันแกว่งตัวอยู่ในระดับที่ 30.50-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ว่า กำลังส่งผลต่อสถานการณ์การส่งออกของไทย โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อไก่ไปยังประเทศคู่ค้าทั้งในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระการขาดทุนจากค่าเงินบาทแล้วไม่น้อยกว่า 10% ถือว่าสวนทางกับแนวโน้มการส่งออกที่ในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของปริมาณการส่งออกไม่น้อยกว่า 2-3% จากยอดการเติบโตเดิมที่มีในปีที่ผ่านมาประมาณ 20%
“เนื่องจากประเทศไทยในขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการผลิตเนื้อไก่เพื่อการส่งออกทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีคุณภาพผู้นำเข้าที่สั่งซื้อไก่จากไทย จะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งถึงวันนี้แม้สถานการณ์การสั่งซื้อจะดีขึ้น แต่การส่งออกกลับต้องเจอปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งมากจนเกินไป ทำให้การผลิตมีต้นทุนที่สูง ทั้งจากค่าเงิน และต้นทุนการผลิต และแม้ในวันนี้ผู้ประกอบการของไทยจะมีความพร้อมในการผลิตเพื่อการเป็นครัวของโลกที่มีความปลอดภัยด้านการผลิตอาหารที่สูง จนทำให้คู่ค้าทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และจีนซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่เริ่มสั่งซื้อสินค้ากับเราเยอะขึ้น แต่เราเองกลับต้องเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้”
ดร.ฉวีวรรณ ยังบอกอีกว่า ในวันนี้ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยไม่เพียงแต่ต้องเผชิญต่อปัญหาค่าเงินบาทที่ทำให้ต้องแบกรับภาระการขาดทุนค่าเงินเท่านั้น แต่การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาลโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ขยับเป็น 330 บาทต่อวัน ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ต้องแบกรับปัญหารอบด้านเท่านั้น แต่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ และมีแผนที่จะขยายการลงทุนก็ต้องชะลอการตัดสินใจ และมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่า
โดยที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้เคยท้วงติงไปยังรัฐบาลว่า การปรับขึ้นอัตราจ้างค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศไม่ได้เกิดผลดีต่อแรงงานไทย แต่กลับส่งผลดีให้แก่แรงงานต่างด้าวที่ใช้แรงงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ และสุดท้ายรายได้เหล่านี้ก็ส่งกลับไปพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านแทน
“แต่คนไทยในแง่ของผู้ประกอบการกลับต้องเผชิญต่อความยากลำบากที่ต้องแบกรับปัญหานี้และรัฐบาลก็ไม่เคยฟัง จึงถือเป็นปัญหาที่หนักที่สุดในรอบ 20 ปี ในกลุ่มของเกษตรปศุสัตว์ และอีกหลายอาชีพ นอกจากนั้น สถาบันการเงินก็ไม่ปล่อยกู้ วันนี้จึงไม่มีใครช่วยเราได้ ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน ฟ้า อากาศ รวมทั้งปัญหาฝนตก น้ำท่วม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ต้องดูแลด้านสุขอนามัย และสุขภาพของสัตว์ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดต่างๆ จึงถือว่าในปีนี้ค่อนข้างต้องเจอปัญหาหนักมาก”
ฉวีวรรณ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งจนเกินไป ว่า เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะต้องหาวิธีช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถอยู่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา วงการเกษตรปศุสัวต์ต้องแบกรับปัญหาการขาดทุนแล้วหลายพันล้านบาทจากเรื่องต้นทุนการผลิต ค่าเงินบาท ค่าแรง และการบริโภคภายในประเทศที่ลดถอยลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่