ศูนย์ข่าวศรีราชา - ก่อพระทรายวันไหลบางแสน 2561 ไม่ทำให้ผิดหวัง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาร่วมโชว์ศิลปะการตกแต่งประติมากรรมทรายกว่า 70 กอง ตลอดแนวชายหาด ท่ามกลางการละเล่นแบบไทยและการอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้าน สร้างความสนุกสนานให้ฉฏ๋ผู้เข้าร่วมงาน ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ศึกแม่ผัว-ลูกสะใภ้ตระกูลคุณปลื้ม แข่งโยนลูกช่วง
วันนี้ (17 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญที่ชาว ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งเดิมเรียกว่า “งานทำบุญวันไหล” ว่า ยังคงเป็นไปอย่างสนุกสนาม ท่ามกลางรูปแบบการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของคนท้องถิ่น ผสมผสานการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของคนยุคใหม่ได้อย่างลงตัว
โดยประเพณี “งานทำบุญวันไหล” ของชาว ต.แสนสุข จะจัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ จะนิมนต์พระสงฆ์จากทุกวัดที่อยู่ในเขต ต.แสนสุข มาประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย จากนั้นจะร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย โดยมีแนวความคิดเรื่องการที่จะขนทรายเข้าวัดเพื่อใช้ในการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมเสนาสนะ ซึ่งรูปแบบของพระทรายจะบ่งบอกหรือสื่อความหมายถึงเรื่องราวทางพุทธศาสนา และมักจะมีลักษณะรูปทรงเป็นพระสถูป เจดีย์ พระปรางค์ พระพุทธรูป หรือรูปทรงอื่นๆ ตามสมัยนิยม ประดับตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดอกไม้ เปลือกหอย และธงทิวต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม
สำหรับการก่อพระทรายวันไหลบางแสน เป็นประเพณีของท้องถิ่นที่ได้กระทำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และได้แบ่งการแข่งขันตกแต่งการก่อพระทรายออกเป็น 6 รูปแบบ คือ 1.ประเภท ก (แบบชาวบ้านหรือแบบดั่งเดิม) 2.ประเภท ข (หน่วยงาน) 3.ประเภท ค (กลุ่มโรงเรียนระดับประถม) 4.ประเภท ง (กลุ่มโรงเรียนระดับมัธยม) 5.ประเภท จ (ชมรมและกลุ่มผู้ประกอบการ) และ 6.ประเภท ฉ (ศิลปร่วมสมัย) ซึ่งในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 70 รูปแบบ
ส่วนผู้ชนะเลิศในปีนี้ ประเภท ก คือ สภาชุมชนตำบลแสนสุข ประเภท ข ผู้ชนะเลิศ คือ โรงแรม เอสทู บางแสน ประเภท ค คือ โรงเรียนโสตศึกษา จ.ชลบุรี ประเภท ง คือ โรงเรียนชลบุรีสุขบท ประเภท จ คือ ผู้ประกอบการหาบเร่ และประเภท ฉ มหาวิทยาลัยบูรพา
หน่วยงานต่างๆ งัดแนวคิดหลากหลายตกแต่งพระทราย
น.ส.สุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพัทยา กล่าวว่า สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพัทยา ได้ก่อพระทรายเข้าประกวดในรูปปั้นลิง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเขาสามมุก ส่วนรูปควาย คือ สัญลักษณ์ของจังหวัดชลบุรี คือ งานประเพณีวิ่งควาย และรูปเรือเจ้ตสกี คือ กีฬาทางน้ำที่มีชื่อเสียง รวมทั้งรูปทะเลและสัตว์ ที่เป็นทรัพยากรอัญสำคัญของเมืองชายทะเล
ด้านกลุ่มนักเรียนโรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา บอกว่า ในปีนี้ได้จำลองเจดีย์พระมหาธาตุ จ.สุโขทัย พระพุทธรูป ปางมารวิชัย เสาหิน 6 ต้น ที่มีการสึกกร่อน ผุพังไปบ้าง เพื่อจำลองให้เหมือนรูปแบบจริง โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงสถานที่จริง
ขณะที่ ดร.วันเพ็ญ บุรีสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลวัดกลางดอนเมืองชลบุรี กล่าวว่า ประเพณีก่อพระทรายชายหาดบางแสนในปีนี้ ทางโรงเรียนได้จำลองเจดีย์ซํโพระศรีรัตนศาสดาราม ฑณธบรมมหาราชวัง มาประดิษฐาน ณ ชายหาดบางแสน โดยเน้นตามหลักเกณฑ์การเข้าประกวดด้านแนวพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีธงทิวตามประเพณีวันไหลบางแสน และมีตุง แสดงถึงความเป็นสิริมงคล
ส่วน นางเกื้อกูล แสงพริ้ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนชลกันยานุกูล พร้อมโซญ นายสุรศักดิ์ รักษาสุข หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรูศิลปะ กล่าว่า ในส่วนของโรงเรียนเน้นรูปแบบประติมากรรมทรายในรูปแบบพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพบูชาของคนในภาคเหนือ เพื่อให้ชาวภาคตะวันออกได้เห็นสัมผัสโดยไม่ต้องเดินทางไกล ส่วนในปีถัดไปจะชูเอกลักษณ์ของความเป็นภาคอีสาน เพื่อต้องการกระจายวัฒนธรรมของแต่ละภาคให้ทั่วถึง
ขณะที่ภาพรวมการจัดงานในช่วงเช้าที่เน้นการจัดกิจกรรมประเพณีพื้นบ้าน และกีฬาพื้นเมืองในปีนี้เป็นไปอย่างคึก โดยมีนักท่องเที่ยว และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การแข่งขันโยนลูกช่วงระหว่าง ทีมแม่ผัว ปะทะ ลูกสะใภัตระกูล๕รปลื้ม ที่สร้างความสนุนกสนานได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น ยังมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันแกะหอยนางรม แข่งขันชกมวยทะเล รำช่วง และการชักเย่อ ซึ่งเป็นกีฬาพื้นบ้านที่หาดูได้ยาก