เลย - เวทีเสวนาหาทางออกลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย แนะปลุกจิตสำนึกชาวไร่จัดหาเครื่องจักรรถตัดอ้อย และใช้กฎหมายจัดการ เหตุชาวไร่กว่า 60% มักเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานหวังลดต้นทุนค่าแรงงาน แต่กระทบมลภาวะเป็นพิษ น้ำตาลคุณภาพต่ำ
วันนี้ (28 มี.ค. 61) ที่ห้องประชุมศรีสองรัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเลย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ เสวนาร่วมหาทางออก ลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมเสวนา ในหัวข้อ เวทีสาธารณะ “หาทางออกลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย ในวันนี้ ปีหน้า และตลอดไป”
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยมีโรงงานน้ำตาล 2 โรงอยู่ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยจำนวนมาก ช่วงที่โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยทุกปีนั้น เกษตรกรต้องเร่งรีบตัดอ้อยเพื่อจำหน่ายแก่โรงงาน มีระยะเวลาจำกัด คือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ทำให้มีการเผาอ้อยก่อนตัดมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ การตัดอ้อยสดเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยชาวไร่มักอ้างว่าตัดอ้อยเผานั้นง่ายและเร็วกว่า ทั้งเป็นการลดต้นทุนได้มาก ส่วนการตัดอ้อยสดตัดได้ช้าหาแรงงานยาก
ทั้งนี้ การเผาอ้อยก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากควันไฟและเขม่าตามมาอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยและโครงสร้างการสูญเสียของหน้าดินในระยะยาว เกิดปัญหาด้านผลผลิตและคุณภาพของอ้อยที่ถูกไฟเผา มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลทรายลดต่ำลงด้วย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและร่วมกันหาทางออก การลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย จึงจัดเวทีเสวนาดังกล่าวขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันหามาตรการ นำไปแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่จังหวัดเลยให้มีประสิทธิภาพยั่งยืน
ด้านนายประมวล ลาภจิตต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแสวงหาทางออกจากการเผาป่าในพื้นที่จังหวัดเลยอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน จึงได้เชิญภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยภาครัฐ ได้แก่ ส่วนราชการ นักวิชาการ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ได้แก่ โรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการขนส่ง ภาคเอกชน ได้แก่ ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคารและการโรงแรม ชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเลย องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)
ภาคประชาชน ได้แก่ เกษตรกรชาวไร่อ้อย ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน สื่อมวลชน ร่วมเวทีสาธารณะหาทางออกมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย ในวันนี้ ปีหน้า และตลอดไป เพื่อรับทราบปัญหา ข้อเสนอแนะ ทางออก เพื่อให้ทุกภาคส่วนทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
ทั้งนี้ เวทีเสวนาอภิปรายในประเด็นดังกล่าวมีความคิดเห็นข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง มีข้อสรุปที่สำคัญ เช่น มาตรการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร การสร้างจิตสำนึก จัดหาเครื่องจักรรถตัดอ้อยให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน มาตรการการดำเนินคดีตามกฎหมาย สถาบันการเงินสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ กำหนดพื้นที่การผลิต งดซื้ออ้อยเผา