xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา อ.ยักษ์ นำทีมเคลียร์ปมสวนป่าสักทับที่ป่า วาง 3 แนวทางปลดตรวนคน “ปางมะโอ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - ที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ นำตัวแทนกระทรวงทรัพย์-กระทรวงเกษตรฯ-ผู้ว่าฯ แพร่ ลงพื้นที่จับเข่าคุยชาวปางมะโอ เคลียร์ปัญหาปลูกสวนป่าสักที่ ส.ป.ก. สุดท้ายเจอประกาศที่ป่าทับ-ตัดขายไม่ได้ วาง 3 แนวทางแก้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเดินหน้าแก่กฤษฎีกาเขตป่าทับที่ทำกิน

วันนี้ (15 มี.ค.) นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พล.อ.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นางสมพร ทองทั่ว รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้, นายภูษิต พรหมมาณพ ผอ.ส่วนกำหนดเขตที่ดินป่าไม้, นายจรัญ มากสมบูรณ์ ผอ.ส่วนอนุญาตไม้และของป่า สำนักการอนุญาต กรมป่าไม้, นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านปางมะโอ หมู่ 12 ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เพื่อดูข้อมูลและหาทางออกปัญหาการถือครองที่ดิน และการทำสวนป่าไม้สัก-สวนผลไม้ แล้วเกิดอุปสรรคทางกฎหมาย โดยเฉพาะสวนป่าไม้สักที่ปลูกตามนโยบายการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐมาได้ 24 ปี แต่ไม่สามารถตัดไม้สักจำหน่ายได้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ออกใบอนุญาต เพราะเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ทับซ้อนกับที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ

โดยคณะที่ปรึกษา รมช.กระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าดูพื้นที่เกษตรที่ชาวบ้านถือครองมานาน มีการปลูกไม้สักเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทำสวนไม้ผล-นาข้าว จากนั้นได้พบประชาชนนับ 1,000 คนที่ลานวัดปางมะโอ

ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้พยายามให้ข้อมูลต่อคณะที่เดินทางมารับฟัง โดยเฉพาะปัญหาที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 และการส่งเสริมปลูกป่าไม้สักเป็นพืชเศรษฐกิจโดยกรมป่าไม้ แต่พออายุได้ 24 ปี ไม่สามารถตัดได้ โดยนายรณเกียรติ คำน้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 บ้านแม่พุงหลวง ต.นาพูน อ.วังชิ้น กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นที่บ้านปางมะโอเท่านั้น แต่ลุกลามไปทั้งภาคเหนือ ขอให้ทางราชการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบ

ด้านนายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สรุปแนวทางให้เกิดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ เรื่องการปลูกไม้สักสวนป่าแล้วตัดไม่ได้โดยเร่งด่วนว่า พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 สามารถขออนุญาตได้โดยตรง ทางจังหวัดจะกำชับให้เจ้าหน้าที่ทำงานให้อย่างรวดเร็ว

ส่วนพื้นที่ ที่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่มีแนวป่าไม้ที่ออกกฤษฎีกาในปี 2552 ทับซ้อนจะมีการเดินสำรวจในรูปกรรมการเพื่อดูพื้นที่จริง แล้วจึงนำไปสู่การอนุญาต สำหรับพื้นที่ปลูกไม้สักของชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่อยู่ในพื้นที่ทำกินที่ทำมานานก่อนกฎหมายออกก็จะใช้มาตรการตรวจสอบโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นแล้วนำไปสู่การแก้ไขเป็นกรณีไป

“กรณีกฎหมายป่าไม้ที่ทับซ้อนจะมีการยกเลิกกฤษฎีกา โดยเฉพาะแนวเขตป่าไม้ในปี 2552 ที่มีการกำหนดแนวเขตอย่างผิดพลาดจะทำการยกเลิก และอนาคตจะมีการใช้แผนที่เดียวกันทุกหน่วยงานทั้งประเทศต่อไป”

ทั้งนี้หลังการหารือ ชาวบ้านปางมะโอต่างรู้สึกพอใจกับข้อตกลงที่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่ในมุมมองของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือที่เข้ามาร่วมหนุนเสริมชาวบ้านในด้านข้อมูลระบุว่า ยังคงต้องติดตามแนวทางการทำงานของทางราชการที่อาจไปไม่ถึงเป้าหมาย จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ประชาชนต้องตั้งคณะทำงานติดตามต่อเนื่องต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น