กาฬสินธุ์ - จังหวัดกาฬสินธุ์ขับเคลื่อนโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล “กาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาล ด้านพ่อเมืองกาฬสินธุ์เผยหลังเปิดโครงการ แก้ปัญหาความยากจน 2 เดือนประชาชนได้รับปลดเปลื้องทุกข์หลายครอบครัว ความสุขมวลรวมสูงขึ้น
วันนี้ (27 ก.พ. 61) ที่ห้องประชุมโสมพะมิตร ชั้น 4 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการ โดยมีนายเธียรชัย อัจฉริยพันธ์ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์, นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์, นายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ว่า เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้เปิดโครงการ (Kick off) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 61 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เครื่องมือที่ใช้ขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การค้นหาครัวเรือนยากจน กลไกการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมาถึงหมู่บ้าน กิจกรรมการขับเคลื่อน และการติดตามและประเมินผล
ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งต้องบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยตั้งเป้ารายได้คนกาฬสินธุ์เฉลี่ยปี 2562 เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือจากรายได้เฉลี่ย 51,147 เป็น 56,261 บาท/คน/ปี ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะต้องเห็นผลภายใน 3 เดือน
จากการดำเนินการที่ผ่านมาเกือบ 2 เดือน พบว่าประชาชนได้รับความพึงพอใจ ผู้มีฐานะยากไร้ได้รับการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งที่พักอาศัย การประกอบอาชีพ ความสุขมวลรวมสูงขึ้น ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเดินหน้าและขับเคลื่อนภารกิจอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อมอบความสุขให้แก่ประชาชน ตามโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ที่สุดคือประชาชนสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดลดังกล่าวจะต้องดำเนินการทุกด้านควบคู่กันไป ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกันในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว ถือเป็นจุดแข็งที่จะสร้างรายได้สู่จังหวัด แต่จากสถิติการท่องเที่ยวกลับพบว่า จ.กาฬสินธุ์มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอยู่ที่อันดับ 17 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งๆ ที่ภายในจังหวัดมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง
ประเด็นดังกล่าวได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมของดีและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าโอทอปให้มากๆ ซึ่งจะสร้างรายได้และเม็ดเงินให้ชาวบ้านมากขึ้น ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องสร้างแบรนด์กาฬสินธุ์ ดึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้ากับกิจกรรมท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรม กระตุ้นกิจกรรมเสริมด้านวัฒนธรรม ต่อยอดผลิตภัณฑ์โอทอปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
ที่ประชุมครั้งนี้ยังได้มอบรางวัลให้แก่ นายภานุวัฒน์ เสงี่ยม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ชนะเลิศการประกวดภาพสัญลักษณ์ หรือมาสคอต ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นรูปไดโนเสาร์ ชื่อภูพาน และแพรงาม ทั้งนี้เพื่อนำผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศไปใช้ในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ของ จ.กาฬสินธุ์ต่อไป