xs
xsm
sm
md
lg

สื่อและผู้รับสื่อในปัจจุบันและอนาคต

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

มีการ์ตูนตอนยาวประจำสัปดาห์ของ “บัญชา/คามิน” เรื่องหนึ่งที่เผยแพร่ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำนายภาพขำๆ เอาไว้ถึงโลกอนาคตที่ไม่มีใครรู้จัก “กระดาษหนังสือพิมพ์กันอีกต่อไป” ว่า จะเป็นอนาคตที่ “เราจะมีวันนั้นแน่ๆ...” (http://manager.co.th/Pjkkuan/ViewNews.aspx?NewsID=9590000099145) ซึ่งใครได้อ่านแล้วคงยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องเกินเลย

ก่อนหน้านี้แม้จะมีกระแสเรื่อง “สื่อออนไลน์” จะเข้ามาแทนที่ “สื่อกระดาษ” มาตั้งหลายสิบปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยมี Internet และ World wide web ที่สามารถนำเสนอแบบมัลติมีเดีย ทั้งภาพ เสียง ข้อความ ได้ ก็มีคำทำนายเช่นว่านี้มาก่อน ว่า ยุคแห่ง “หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์” แบบอิเล็กทรอนิกส์ จะมาแทนที่สื่อแบบกระดาษลงได้ในที่สุด แต่ในตอนนั้น คนส่วนใหญ่ก็มองว่า “คงอีกนาน”

เพราะยุคนั้น การ “อ่าน” สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะต้องกระทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ หรือเล็กที่สุดก็เป็นคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊กหรือแล็ปท็อป ซึ่งในขณะนั้น สัก 10-20 ปีก่อนยังมีขนาดเท่าหนังสือเล่มหนาๆ หนักหลายกิโลกรัมอยู่ดี ซึ่งแม้จะพกพาได้ แต่ก็ยังไม่ถือว่าสะดวกสบายนัก ส่วนใหญ่มีไว้ใช้ทำงานมากกว่านำมาใช้เพื่อการบันเทิงหรืออ่านหนังสือ

มีคนพูดอย่างตลกๆ ว่า หนังสือพิมพ์หรือสื่อกระดาษนั้นไม่มีวันตายได้ง่ายๆหรอก ตราบใดที่คนยังชอบเอาหนังสือพิมพ์บ้าง นิตยสารบ้าง หรือหนังสือพ็อกเกตบุ๊กไปอ่านกันในห้องน้ำห้องส้วม

ในยุคนั้นสื่อสารมวลชนที่ให้บริการข่าว แม้จะมี “เว็บไซต์” แต่ก็เป็นเหมือน “ส่วนเสริม” ของสื่อหลัก เช่นถ้าเป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ ก็เอาข่าวจากหนังสือพิมพ์นั่นแหละมาแปะลงไป

ในช่วงแรกๆ ของไทยมีเพียงเว็บของผู้จัดการเท่านั้นที่เป็นเหมือน “สำนักข่าวออนไลน์” ที่แท้จริง ที่เนื้อหาของข่าวไม่ได้ขึ้นกับหนังสือพิมพ์เสียทีเดียว มีข่าวและเนื้อหาของเว็บเองที่เป็นเอกเทศแยกออกจากข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งอันนี้เป็นวิสัยทัศน์ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ดังที่ได้เคยเขียนไว้แล้วในบทความตอน “ลมหายใจสุดท้ายของนิตยสารกับวิสัยทัศน์คุณสนธิ”(http://manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9590000093036)

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่นำมาสู่ “ความตาย” ของสื่อกระดาษในวันนี้ คือการมาถึงของ Tablet Computer หรือถ้าชี้ชัดกว่านั้น คือนับแต่การเปิดตัว iPad รุ่นแรกจากบริษัท Apple ในปี 2010 (หรือพ.ศ. 2553) ที่เป็นเหมือนกับการ Kick off โลกยุคใหม่ของอุปกรณ์พกพาอย่างแท้จริง

“จุดแข็ง” ของหนังสือพิมพ์และสื่อกระดาษที่สามารถเอาไปอ่านในส้วมได้ถูกทำลายลงไปในคราวนี้เอง เพราะ iPad หรือ Tablet รุ่นอื่นๆ ก็อยู่ในวิสัยที่ใครจะพกไปอ่านกันในส้วมก็ได้แล้ว

50-60 ปีจากจุดนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า เดี๋ยวนี้ Tablet ที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ “เครื่องมือหลัก” ในการเสพ “สื่อ” ของผู้คนในทศวรรษ 2010 และต่อไปข้างหน้า

เมื่อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะนั้นมีไว้ใช้เฉพาะในสถานที่ทำงาน คอมพิวเตอร์แบบแล็ปท็อปนั้นมีน้ำหนักที่เบาลง แต่กระนั้นการเติบโตของตลาดก็ลดลงไป

จากการสำรวจผู้คนออนไลน์ผ่าน Tablet เป็นช่องทางหลักได้ทุกที่ทุกเวลา ขอเพียงมีสัญญาณ Wifi หรือ 3G/4G ซึ่งในปัจจุบันทั้งเรื่องความครอบคลุม และค่าใช้จ่ายไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้ว

หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อกระดาษ ต่างถูกฌาปนกิจด้วยเทคโนโลยีดังนี้เองนอกจากนี้ การทำสื่อในยุคเทคโนโลยีนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบการเสพสื่อของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นผลมาจากเทคโนโลยีนั่นแหละ

เนื่องจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่มีขั้นตอนการ “ผลิต” และไม่มีกรอบเวลา ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ที่มีกรอบเช้าบ่าย นิตยสารที่มีรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ แต่สื่อออนไลน์นี้จะเรียกว่าเป็น “รายนาที” ก็ไม่ได้แล้ว ในหลายสถานการณ์มันถือเป็น “รายวินาที” เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ การรับสารของคนส่วนใหญ่จึงเน้น “ความเร็ว” มากกว่าคุณภาพ ดังนั้นสื่อดีที่ช้า จะสู้สื่อที่เร็วกว่าแต่คุณภาพพอทนหรือแม้แต่คุณภาพแย่ก็ได้

บางครั้งบางสำนักยอมแลกความเร็วกับความผิดพลาด คือยอมแพร่ข่าวที่อาจจะ “ผิด” ออกไปก่อนเพื่อแลกกับความเร็ว และถ้าเกิดข่าวนั้นมัน “ผิด” จริงๆ ค่อยไปแก้เพราะคู่แข่งของสำนักข่าวต่างๆ ที่เป็นทางการนั้นคือ “สื่อไม่เป็นทางการ” ทาง Social Network ต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ที่ข่าวไม่เป็นทางการพวกนี้มาจาก “คน” ที่เป็นทั้งผู้สร้างสารและผู้รับสารในตัวเอง

เช่นนี้ การมี “บรรณาธิการ” สำหรับสื่อออนไลน์นั้น อาจจะต้องหาวิธีที่ยังรักษาความเร็วและคุณภาพให้ได้อยู่ ในกรณีที่เป็นสื่อทางการแล้วคุณภาพก็ยังค้ำคอ แต่ก็ยังต้องเร็วพอที่จะสู้กับสื่ออื่นได้ ซึ่งไม่ง่ายเอาเสียเลย

นอกจากนี้ การเสพสื่อของคนในยุคปัจจุบันนี้ เฉพาะ “ข้อความ” หรือ “เนื้อหาตัวอักษร” นั้นไม่พอเสียแล้ว ภาพประกอบและกราฟิกประกอบนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับสื่อออนไลน์

ในขณะที่สื่อแบบดั้งเดิมนั้นเนื้อที่ในการนำเสนอ “รูปภาพ” หรือ “กราฟิก” พวกนี้ถูกบังคับด้วยข้อจำกัดทางหน้ากระดาษ แต่สื่อออนไลน์ไม่มีข้อจำกัดนี้

บางข่าว บางเรื่อง ข้อความไม่ต้องแปะ มาแต่รูปก็พอ

นอกจากนั้น การใช้ “ภาพภูมิ” หรือ Infographic นี่แปลงข้อมูลมาเป็นภาพ ก็เริ่มเป็นเหมือนภาคบังคับสำหรับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในยุคนี้ไปแล้ว

เพราะผู้รับสารหรือผู้อ่านนั้น “เห็นเป็นภาพ” เข้าใจง่ายกว่าการอ่านผ่านตัวอักษร

และสิ่งที่เริ่มปรากฏชัดในยุคหลังๆ ที่อาจจะเป็นข้อจำกัดใหม่สุดของการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ คือ “จำนวนจำกัด” ของขีดความอดทนของคนในการอ่านนั้นลดลง

คำพูด “ยาวไป - ไม่อ่าน” เป็นความเจ็บปวดของผู้ผลิตเนื้อหาที่ดี แต่ยาวเกินความอดทนในการอ่านของผู้รับสารในปัจจุบัน

ทำให้เนื้อหาของข่าวสารหรือบทความที่เผยแพร่ผ่านช่องทางปัจจุบัน จะต้องลดลงไป ทั้งสั้นลงในภาพรวม มีย่อหน้าและประโยคที่สั้นพอที่จะยังดึงความสนใจของผู้อ่านไว้ได้ หรือดูง่ายๆ หากมองผ่านหน้าจอเล็กๆ

อันนี้ลามไปถึงวงการหนังสือด้วย เพราะหากใครไปเปิดดูหนังสือขายดี จะเห็นว่าในช่วงหลังๆ นี้ หนังสือต่างๆ ใช้รูปแบบการเขียนหรือเรียบเรียงประโยคที่สั้นลงทั้งสิ้น บางหน้ามีเพียง 5 ประโยค กับย่อหน้าสั้นๆ เท่านั้นเอง

ความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ถึงสิ่งที่คนทำสื่อยุคใหม่จะต้องปรับตัว

ซึ่งสำหรับคนเคยเป็นสื่อในช่วงรอยต่อระหว่างกระดาษกับอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถือเป็นการบ้านข้อยากที่เหมือนจะต้องเรียนวิชาสื่อสารมวลชนกันใหม่เลยทีเดียว.
กำลังโหลดความคิดเห็น