กาญจนบุรี - ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา พร้อมคณะแพทย์ พยาบาล และตระกูลบ่อเกิด ทำพิธีบวงสรวงบ่อบาดาลแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรีต่างปลื้มปีติ เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่มอบให้โรงพยาบาลรวม 12 ไร่
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี นายแพทย์สมเจตน์ เหล่าลือเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วย นายวรัตนถ์ แก้วบุญชู รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา นางสาวสุรีรัตน์ บ่อเกิด อดีตอาจารย์โรงเรียนวิสุทธรังษี นายประจักษ์ บ่อเกิด ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงครอบครัวตระกูลบ่อเกิด รวมทั้งคณะแพทย์ พยาบาล ร่วมทำพิธีบวงสรวงบ่อบาดาลเก่าแก่ และแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรีที่มีอายุ 108 ปี พร้อมเตรียมบูรณะเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
นายแพทย์สมเจตน์ เหล่าลือเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า วันนี้เรามาทำพิธีบวงสรวงบ่อบาดาลที่เก่าแก่ และเป็นบ่อบาดาลแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นต้นตระกูลของตระกูล บ่อเกิด ด้วย และหลังจากบวงสรวงเสร็จหลังจากนี้ทางโรงพยาบาลก็จะดำเนินการบูรณะเพื่อให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นหลังได้รู้จัก ได้เข้ามาศึกษา ซึ่งชุมชนบ้าบ่อก็มีที่มาจากบ่อบาดาลแห่งนี้ และนอกจากนี้ในอนาคตบ่อบาดาลแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีได้
สำหรับที่ดินแปลงนี้ ได้รับพระเมตตาจาก "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินมอบให้กับโรงพยาบาลพหลฯรวมเนื้อที่ 12 ไร่ เพื่อให้ทางโรงพยาบาลก่อสร้างอาคารบ้านพักของคณะแพทย์ และพยาบาล คาดว่าในเร็วๆนี้คงจะเริ่มลงมือก่อสร้างซึ่งอยู่ระหว่างการประสานให้ทางโรงพระยาบาลพระมงกุฎมาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งทางโรงพยาบาล คณะแพทย์และพยาบาลต่างมีความรู้สึกปลื้มปีติที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลพหลเป็นอย่างมาก
ด้านนางสาวสุรีรัตน์ บ่อเกิด อดีตอาจารย์โรงเรียนวิสุทธรังษี และนายประจักษ์ บ่อเกิด ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกันเปิดเผยว่า สำหรับบ่อน้ำบาดาลบ่อแรกของกาญจนบุรี ในอดีตเกิดขึ้นราวปี 2448 บริเวณดังกล่าวยังไม่โรงพยาบาลแห่งนี้ มีเพียงนายมั้น แซ่ล้อ ซึ่งเป็นชาวจีน เดินทางมาอาศัยอยู่ที่ ชุมชนในตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ประกอบอาชีพ เกษตรกรรมเพาะปลูกพืชไร่เป็นหลัก แม่น้ำอยู่ไกลประสบปัญหาขาดน้ำกิน น้ำใช้ จึงมีแนวคิดในการแก้บัญหาด้วยการขุดบ่อเพื่อหาน้ำไว้ใช้ในฤดูร้อน ปี 2453 จึงได้ชวนชาวบ้านในละแวกนั้น ช่วยกันขุดบ่อน้ำในที่ดิน นำดินมาปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปเรียงให้เป็นบ่อ ต่อมาทางราชการได้ทราบจึงใช้เรียกชุมชนในบริเวณนี้ว่าหมู่บ้านบ่อนานเข้าเหลือคำว่า บ้านบ่อ และนายมั้น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกำนันประจำตำบลปากแพรก
และในปี 2456 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประชาชนใช้นามสกุล นายมั้นจึงได้เปลี่ยนนามสกุลจากแซ่ล้อ เป็นบ่อเกิด ตั้งแต่นั้นมา กำนันมั้น บ่อเกิด เป็นปู่ของนายเสียม บ่อเกิด ที่มอบที่ดินให้ก่อสร้างโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เมื่อปี พ.ศ.2494