xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์หึ่ง พิพิธภัณฑ์น่านหมดงบปรับปรุง 35 ล้าน ทำ “หอคำ 120 ปี” เปลี๊ยนไป๋

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - เครือข่ายนักอนุรักษ์-สังคมออนไลน์เมืองน่านวิจารณ์กันกระหึ่ม กรมศิลป์ทุ่มงบเกือบ 35 ล้านปรับปรุง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” ไม่สอดคล้องความเป็น “หอคำ-โบราณสถานเก่าแก่กว่า 120 ปี” สูญเสียความเป็นเมืองเก่าเกลี้ยง



วันนี้ (10 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เครือข่ายกลุ่มนักอนุรักษ์เมืองน่าน รวมถึงผู้คนในสังคมออนไลน์เมืองน่านต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ที่ปิดปรับปรุงนานกว่า 3 ปี ด้วยงบประมาณรวม 34,810,000 บาท แต่กลับไม่สอดคล้องกับความเป็นโบราณสถานเก่าแก่อายุกว่า 120 ปี และพื้นที่เมืองเก่าน่าน

กลุ่มนักอนุรักษ์ชี้ให้เห็นถึงการปรับปรุงอาคารเดิมที่ไม่สอดคล้องกับอาคารพิพิธภัณฑ์ หลายจุด เช่น ประตูอะลูมิเนียมและมือจับประตูที่เป็นสเตนเลส รวมถึงลวดลายบนหน้าบัน หรือหน้ามุข ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม สีตัวอาคาร ตลอดจนกระเบื้องหลังคา ทำให้เกิดการตั้งคำถาม และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปรับปรุงใหญ่ครั้งนี้ แต่ไม่คงไว้ซึ่งการอนุรักษ์โบราณสถาน

ด้านนางสาวชลลดา สังวร หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เปิดเผยว่า อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา และมีความจำเป็นต้องปรับปรุง โดยสำนักสถาปัตยกรรม และกลุ่มเทคนิคศิลปกรรม สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร และการออกแบบการจัดแสดง

ในการออกแบบนั้นได้มีการสืบค้นประวัติจากภาพถ่ายและหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์เพื่อให้กลับไปสู่ความเป็นอดีตมากที่สุด โดยการเปลี่ยนราวไม้ระเบียงหน้ามุข และลวดลายหน้าบันที่เปลี่ยนไปจากอาคารเดิมก่อนหน้านี้เนื่องจากมีการสืบค้นพบภาพถ่ายในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นภาพที่เก่าแก่ที่สุดที่สืบค้นได้ จึงได้นำมาออกแบบให้ตรงตามภาพ

ส่วนกรณีการเปลี่ยนสีตัวอาคารจากเดิมสีขาว กลายเป็นสีเหลืองอ่อน เนื่องจากมีการขูดชั้นสีของตัวอาคารจนลึกสุดแล้วพบว่าเป็นสีเหลืองอ่อน จึงได้มีการทาสีตัวอาคารเป็นสีดังอาคารในปัจจุบัน สำหรับกรณีประตูอะลูมิเนียม ซึ่งอาคารเดิมก็เป็นอะลูมิเนียมเช่นกัน แต่สีอาจดูกลมกลืนกับตัวอาคารทำให้ไม่ขัดสายตา

จากนั้นได้ปิดปรับปรุง ซ่อมอาคารภายนอก และหลังคาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยงบประมาณ 13,880,000 บาท, ปี 2559 ได้มีการซ่อมตัวอาคารและด้านในตัวอาคาร ด้วยงบประมาณ 9,480,000 บาท และปี 2560 มีการปรับปรุงโถงทางชั้นบนและล่าง และห้องโถงกลาง รวม 3 ห้อง ใช้งบประมาณ 11,450,000 บาท รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 34,810,000 บาท

“ยอมรับว่าหลังการปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ขัดต่อความรู้สึกตามกระแสวิจารณ์ จะขอนำเข้าหารือกับหน่วยงานส่วนกลางเพื่อหาทางแก้ไข เนื่องจากการออกแบบ และปรับปรุงเป็นการดำเนินงานจากส่วนกลางทั้งหมด”

สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ พระเจ้าน่าน ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น มีมุขด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด บนเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา

ครั้นเมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงได้มอบหอคำหลังนี้ พร้อมที่ดินให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้น

กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปี พ.ศ.2517 และประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ.2528 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530

ภายในจัดแสดงศิลปะ โบราณวัตถุต่างๆ ประวัติศาสตร์ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองภาคเหนือ และชาวเขาเผ่าต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “งาช้างดำ” และด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย














กำลังโหลดความคิดเห็น