xs
xsm
sm
md
lg

จีนถอย ปิดฉากมหากาพย์ 17 ปี ระเบิดแก่งกลางน้ำโขง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - คนลุ่มน้ำโขง-เครือข่ายนักอนุรักษ์ไม่เชื่อ สป.จีนถอยบึ้มแก่งน้ำโขง!? หลังเดินหน้าขับเคลื่อนมายาวนาน 17 ปี แถมวางเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ “วันเบลท์วันโรด” ยกท่าเรือกวนเหล่ยเป็นประตูสินค้าแช่แข็งผัก-ผลไม้ 3 มณฑลตอนใต้แล้ว ย้ำต้องรอดูอีไอเอสิ้นมกราคมนี้ก่อน

แม้ว่า “ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ” จะออกมาระบุเมื่อปลายปีที่แล้วว่า สป.จีนมีท่าทีที่จะยุติโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือ หลังจากได้รับรู้ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนผู้คนในลุ่มน้ำโขง-เครือข่ายนักอนุรักษ์ยังคงหวาดระแวงกันอยู่

ด้วย “เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำ” กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ตามนโยบาย “วันเบลท์วันโรด” ของ สป.จีน ที่เปิดเส้นทางเชื่อมโยงมณฑลทางตะวันตกกับอาเซียน-ทะเล นอกเหนือไปจากการทุ่มพัฒนาทั้งถนน-รถไฟความเร็วสูง ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม พม่า ไทย

ซึ่งมีการผลักดันข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง 4 ชาติ คือ ไทย จีน สปป.ลาว และพม่า มาตั้งแต่ปี 2543 กำหนดพัฒนาท่าเรือ 14 แห่ง ตั้งแต่เชียงรุ้ง-หลวงพระบาง ระยะทาง 890 กม. ได้แก่ ซือเหมา จิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เมืองหัง กวนเหล่ย สป.จีน, บ้านจิง บ้านโป่ง ประเทศพม่า, ปางทราย ปางเซียงก่อ เมืองมอม บ้านป่าลุน ห้วยทราย หลวงพระบาง สปป.ลาว และท่าเรือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ ประเทศไทย

และที่ผ่านมา จีนถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนข้อตกลงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงร่องน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือสินค้า เพราะมีเรือสินค้าจีนหลายร้อยลำต่างขนส่งสินค้าไปมาระหว่างท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย-จีนตอนใต้ โดยเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนที่กำลังมีการพัฒนาขนานใหญ่อย่างต่อเนื่อง

โดย สป.จีนได้ปรับปรุงร่องแม่น้ำล้านช้าง พื้นที่ตอนในของจีนจนแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกได้กำหนดแผนดำเนินการเอาไว้ 2 ระยะ โดยเดิมกำหนดเอาไว้ว่าระยะที่ 1 จะดำเนินการเพื่อเรือขนาดไม่น้อยกว่า 100 ตัน ภายในปี 2545 และระยะที่ 2 จะดำเนินการเพื่อเรือขนาด 300-500 ตันภายในปี 2550 โดยทางการจีนประกาศจะใช้งบประมาณดำเนินการให้เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการระยะแรกจนถึงปี 2545 นั้นสามารถดำเนินการได้เพียง 10 แห่งจากเดิมที่กำหนดเอาไว้จำนวน 11 แห่ง ตั้งแต่ชายแดนจีน-พม่า จนถึงสิ้นสุดชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ อ.เวียงแก่น ระยะทาง 231 กิโลเมตร โดยอยู่ในเขตจีน-พม่า 1 แห่ง พม่า-สปป.ลาว 9 แห่ง และไทย-สปป.ลาว 1 แห่ง

โดยจีนเดินหน้าระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงบางส่วนออก จัดวางป้ายสัญญาณจราจรทางเรือ รวมถึงปรับปรุงท่าเรือต่างๆ อย่างขนานใหญ่ คงเหลือแต่เพียงคอนผีหลง-แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้

กระทั่งทุกวันนี้การเดินเรือสินค้าแม่น้ำโขงสามารถแล่นไปมาได้ตลอดแนว ด้วยระวางบรรทุกเรือกว่า 150 ตัน

นอกจากนี้ จีนยังผลักดันให้ 4 ชาติภาคีจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.)” โดยแต่ละประเทศมีการจัดกำลังพล เรือลาดตระเวน และอุปกรณ์ต่างๆ ทำการลาดตระเวนตลอดลำน้ำโขง หลังเกิดเหตุปล้น-ฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพ เมื่อปลายปี 54 ที่ผ่านมาด้วย

และในการประชุม JCCCN ครั้งพิเศษ เดือน มิ.ย. 2558 มีการเดินหน้าแผนปรับปรุงร่องน้ำโขงอีกครั้ง ด้วยการร่วมกันตั้ง "คณะทำงานร่วมเพื่อการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการฯ" ก่อนที่จีนจะอนุมัติให้บริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด เริ่มสำรวจร่องน้ำโขงตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ ลงไปถึงหลวงพระบางอีกครั้ง

แน่นอนเป้าหมายสำคัญ คือ การทะลวงเกาะแก่งกลางน้ำโขงตามแนวพรมแดนไทย-สปป.ลาว ที่ถูกต่อต้านมาตั้งแต่ต้น

โดยมีการนำเรือเข้าสำรวจทางวิศวกรรม ธรณีวิทยาและชลศาสตร์ในแม่น้ำโขง ด้านที่ติดกับเชียงราย ได้อย่างเป็นทางการครั้งแรกตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไทย ที่ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 จนเสร็จสิ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 60 ที่ผ่านมา

จากนั้นก็ได้มีการจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอชายแดนเชียงราย และ 60 กว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต่อขอบเขตและแนวทางการศึกษาโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

กระบวนการขับเคลื่อนทั้งหมดนับเป็นการรุกครั้งสำคัญของโครงการฯ นี้ นับตั้งแต่มีข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง 4 ชาติ เหลือเพียงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2561 นี้ ก่อนนำเสนอคณะทำงานร่วม 4 ชาติ และคณะรัฐมนตรีของไทย เพื่อพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย

และหากมีการอนุมัติให้โครงการเดินหน้า ก็จะเข้าสู่กระบวนการระยะที่ 2 อย่างเต็มตัว นั่นหมายถึงการขุดลอก ทำเขื่อน ระเบิดเกาะแก่งกลางน้ำโขงบางจุด ฯลฯ เพื่อให้เรือขนาด 300-500 ตันสามารถแล่นได้โดยสะดวก และปลอดภัย

ตามข้อมูลในการดำเนินการระยะที่ 1 ที่ผ่านมาพบว่า มีเกาะแก่ง สันดอนทราย ฯลฯ ที่เป็นอุปสรรคตลอดแนวของโครงการกว่า 51 แห่ง และที่อยู่ติดกับฝั่งไทยด้าน จ.เชียงราย มีจำนวน 9 แห่ง โดยเฉพาะ “คอนผีหลง” กลุ่มเกาะแก่งติดกับ ต.ริมโขง อ.เชียงของ รวมถึง “แก่งผาได” ด้าน อ.เวียงแก่น ก็อาจจะถูกดำเนินการด้วย

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดชียงราย กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนก็ไม่ค่อยเห็นด้วยมากนักกับการต้องระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพราะอาจกระทบต่อหลายด้าน แต่ด้วยการเป็นพ่อเมืองก็ต้องทำงานในหลายมิติ ทั้งในส่วนที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐเพื่อให้การสำรวจต่างๆ ทำได้โดยสะดวกราบรื่น รวมทั้งดูแลเรื่องความสงบในพื้นที่เพราะไม่อยากให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

“เมื่อมีข่าวเรื่องอาจจะมีการยุติโครงการก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อทุกฝ่าย และจากนี้ก็ต้องกลับมาพิจารณากันต่อว่าจะมีการพัฒนาแม่น้ำโขงร่วมกันเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในอนาคตต่อไป”

ด้าน นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า หากเป็นเรื่องจริงก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงนั้นหากสูญเสียไปแล้วไม่อาจจะได้กลับคืนมา และตนเห็นว่าการดำเนินการจะต้องคำนึงถึงความคุ้มได้คุ้มเสียระหว่างต้นทุนทางธรรมชาติ และสังคมที่มีอยู่แล้ว กับผลประโยชน์ของทุนเสรี

การที่จีนมีท่าทีดังกล่าวอาจเกิดจากแรงกดดัน 3 ประการ คือ 1. จีนเองก็มีกฎหมายที่กำหนดให้เอกชนจีนที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ จะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ และหากว่าผลการสำรวจอีไอเอระบุว่ามีผลกระทบแล้วยังเดินหน้าโครงการอีก ผู้บริหารบริษัทก็เสี่ยง 2. เริ่มมีองค์กรที่ทำงานด้านตรวจสอบดูแลด้านสิ่งแวดล้อมออกมาตรวจสอบกันในประเทศจีนมากขึ้น และ 3. เกิดจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไทยที่ออกมาคัดค้านอย่างยาวนานตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การแสดงท่าทีดังกล่าวยังไม่ถือเป็นการปิดฉากโครงการนี้ เพราะตามขั้นตอนแล้วบริษัททีมฯ จะยังทำอีไอเอตลอดเดือนมกราคม 2561 นี้จนแล้วเสร็จ ซึ่งผลที่ออกมาจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของโครงการและจะชี้ขาดได้ว่า จะเดินหน้าโครงการต่อไปได้อีกหรือไม่ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็กำลังรอผลอยู่

ส่วนในอนาคตหากว่าจะมีโครงการใดๆ อีกก็ควรจะมีการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศให้ดีก่อน โดยรัฐจำเป็นต้องทบทวนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง เพราะท้ายที่สุดปัญหาจะตกอยู่กับประชาชนนับล้านที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาตินี้เลี้ยงชีพ

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ทางการจีนมีท่าทีดังกล่าว และถือว่าเห็นความสำคัญของกลุ่มรักษ์เชียงของที่เรียกร้องเรื่องนี้มาตลอดเกือบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องการระเบิดเกาะแก่งเป็นเพียงมิติหนึ่งของการดำเนินการกับแม่น้ำโขง แต่ยังมีโครงการอื่นๆ อีก เช่น การสร้างเขื่อนไชยะบุรีใน สปป.ลาว ฯลฯ ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลก่อนดำเนินการเลย เป็นต้น หรือแม้แต่การระเบิดเกาะแก่ง ก็อาจถูกหยิบยกมาดำเนินการได้อีกทุกเมื่อ ดังนั้นทุกประเทศจึงควรตั้งองค์กร หรือหน่วยงานที่เปิดให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ คนท้องถิ่น ฯลฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการและพัฒนาแม่น้ำโขงร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า มิติอื่นๆ ของแม่น้ำโขง มีตัวอย่างแล้ว คือ เขื่อนจิ่ง ที่ระบายน้ำออกมาไม่สม่ำเสมอ บางช่วงมากและน้อยแตกต่างกัน ทำให้น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และฤดูกาล ล่าสุดในเดือนธันวาฯ 60 จีนปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงลงเหลือเพียงประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำแห้งลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทั้งวิถีชีวิตคนริมฝั่ง การอพยพของสัตว์น้ำ แหล่งอาศัย การวางไข่ พืช ฯลฯ ดังนั้น กรณีของการระเบิดเกาะแก่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราจะต้องผลักดันให้มีการเห็นความสำคัญในภาพรวมด้วย

สำหรับการค้าชายแดนผ่านท่าเรือ อ.เชียงแสนยังคงมีมูลค่ามหาศาล โดยในปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 899.90 ล้านบาท ส่งออกมูลค่า 14,431.26 ล้านบาท ส่งออกผ่านแดนมูลค่า 5,691.89 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 จนถึงเดือน พ.ย.มีการนำเข้าแล้ว 110.61 ล้านบาท ส่งออก 3,274.37 ล้านบาท และส่งออกผ่านแดน 710.75 ล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน เป็นมันฝรั่ง กระเทียมสด เมล็ดดอกทานตะวัน กระเทียมอบแห้ง เปลือกบง ใบชาเขียวรวมก้าน ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง น้ำมันดีเซล ยางพารา สุกรมีชีวิต ฯลฯ

ขณะที่เมืองท่าต่างๆ ในแม่น้ำโขงมีการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกในการรองรับการค้าทางเรือแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน สป.จีน มีการยกระดับท่าเรือกวนเหล่ย เป็นเมืองท่าทันสมัย และออกข้อกำหนดให้เป็นวันเบลท์วันโรดที่สมบูรณ์แบบ กำหนดให้นำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทแช่เย็นและผักผลไม้ของ 3 มณฑลตอนใต้ คือ ยูนนาน เสฉวน และกุ้ยโจว ต้องผ่านท่าเรือกวนเหล่ยเท่านั้น









กำลังโหลดความคิดเห็น