xs
xsm
sm
md
lg

นักอนุรักษ์ล่องโขงตามส่องเรือจีน ย้ำต้านบึ้มแก่ง-จี้รัฐเลิกข้อตกลง 4 ชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กลุ่มรักษ์เชียงของ พร้อมเครือข่ายนักอนุรักษ์รวมตัวตั้งวงเสวนาชำแหละแผนสำรวจแก่งโขง ติดป้ายต้าน 3 ภาษาย้ำจุดยืนทั้งบนเกาะกลางน้ำ-จุดชมวิวฝั่งไทย ก่อนล่องเรือตามหาเรือสำรวจจีน หวังชูป้ายคัดค้านให้เห็นต่อหน้า พร้อมเสนอรัฐยกเลิกข้อตกลง 4 ชาติ จีน-พม่า-ลาว-ไทย

วันนี้ (15 พ.ค.) นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ได้นำมวลชนในเครือข่ายธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา (กลุ่มรักษ์เชียงของ) ประมาณ 100 คน รวมตัวทำกิจกรรม "โขงร่มเย็น 93" ตามเกาะแก่งผาเยีย ผากันตุง คอนผีหลง และจุดชมวิวผาพระ บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว

ทั้งนี้ เพื่อคัดค้านการสำรวจแม่น้ำโขงของเรือสำรวจจากประเทศจีน ซึ่งยังคงปฏิบัติงานอยู่ในเขตแม่น้ำโขงระหว่าง อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น และเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.เป็นต้นมา โดยมีการพูดคุยเสวนาถึงการปกป้องแม่น้ำโขง และการแสดงออกถึงการรุกรานแม่น้ำโขงจากกลุ่มทุนที่จะทำลายธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีการอ่านคำประกาศเชียงของ (โขงร่มเย็น) ว่า แม่น้ำโขงมีความยาว 4,909 กิโลเมตร ผ่านหลายประเทศ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค มีพันธุ์ปลากว่า 850 ชนิด ดินตะกอนที่เหมาะสำหรับการเกษตร และก่อให้เกิดวัฒนธรรม และความเชื่อมโยงของผู้คนใน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาชาวลุ่มน้ำโขงได้รับผลกระทบจากการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนด้วยการระเบิดเกาะแก่งกว่า 10 แห่งมาตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และยังมีการสร้างเขื่อนกว่า 6 แห่ง จนทำให้การขึ้นลงของน้ำไม่เป็นตามฤดูกาล พันธุ์ปลาและปริมาณปลาลดลง เกิดการหายไปของ "ไก" สาหร่ายแม่น้ำโขงที่ชาวบ้านนำมาบริโภค โดยไม่มีกระบวนการช่วยเหลือจากรัฐ

จนถึงปลายปี 2559 รัฐบาลไทยมีมติเห็นชอบและได้มีการอนุญาตให้บริษัท CCCC Second Harbor Consultant ของจีนทำการสำรวจแม่น้ำโขงเขตติดประเทศไทยระยะทาง 96 กิโลเมตร จำนวน 15 จุด ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. กำหนดระยะเวลา 55 วัน ขณะนี้ผ่านพ้นไป 24 วันแล้ว

การสำรวจที่มีการขุดเจาะน้ำโขงสร้างความกังวลใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง พวกเราเห็นว่าการสำรวจแม่น้ำโขงในครั้งนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจของระดับรัฐบาล เพื่อจะเปิดทางให้มีการระเบิดเกาะแก่ง และขุดลอกสันดอนทรายบนแม่น้ำโขงตลอดระยะทางกว่า 631 กิโลเมตรจากชายแดนจีน-พม่า ถึงแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อเปิดทางให้เรือบรรทุกสินค้าขนาด 500 ตันล่องผ่านได้ตลอดทั้งปี

ซึ่งจะเป็นการทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรงที่สุด และจะเป็นการขับไล่คนท้องถิ่นที่พึ่งพาอาศัยอยู่กับแม่น้ำโขงทั้งเรื่องการประมง การใช้น้ำ มีประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับแม่น้ำโขงออกไปจนหมดสิ้น แม่น้ำโขงจะกลายเป็นคลอง และเป็นเส้นทางการคมนาคมของสินค้าจากจีนเป็นหลัก พวกเราจึงขอประกาศและขอเรียกร้องให้รัฐบาลควรทบทวนโครงการดังกล่าว

นายนิวัฒน์ และเครือข่ายยังได้แจ้งข้อเสนอในประกาศเชียงของต่อรัฐบาลว่าควรจะมีการประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจจากการระเบิดเกาะแก่งระยะที่ 1 และควรจะมีการศึกษาเศรษฐศาสตร์ ด้านมูลค่า และคุณค่าของนิเวศในเขตพรมแดนไทย-สปป.ลาว เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจ

รวมถึงควรศึกษาและพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ รีบเร่งพัฒนาการขนส่งทางราง และท่าเรือเชียงแสน ให้สามารถขนส่งสินค้าได้เต็มศักยภาพมากกว่า พร้อมเสนอให้รัฐบาลไทยได้ยกเลิกโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ด้วย

จากนั้นกลุ่มรักษ์เชียงของได้ติดป้ายข้อความ 3 ภาษา คือ ไทย จีน และอังกฤษ คัดค้านการระเบิดเกาะแก่งตามจุดต่างๆ รวมถึงบนเกาะผาเยีย ก่อนจะนำเรือเล็กพร้อมป้ายออกติดตามหารือขุดเจาะ "เจียฟู่ 3" ของจีน

วันนี้เรือดังกล่าวมีกำหนดสำรวจบริเวณดอนผาฟ้า บานผากุบ ต.ริมโขง อ.เชียงของ ตรงกันข้ามบ้านน้ำยอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ส่วนเรือฉีตง 9 ที่สำรวจทางชลศาสตร์สำรวจอยู่บริเวณบ้านดอนที่ ต.ริมโขง บ้านผาฟ้า-บ้านห้วยเอียน ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น ขณะที่เรือเซิ่นไท้ 198 ได้สำรวจทางชลศาสตร์บริเวณกว๊านอิง บ้านปากอิง ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ






นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย
กำลังโหลดความคิดเห็น