xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนรุมจวกไม่หยุด “พิพิธภัณฑ์น่าน” โฉมใหม่ ทำเมืองเก่าสิ้นเสน่ห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - ผู้ประกอบการท่องเที่ยววิจารณ์กันไม่หยุด “พิพิธภัณฑ์ฯ น่าน” โฉมใหม่สิ้นเสน่ห์เมืองเก่า เหมือนนับหนึ่งใหม่ให้โบราณสถานเก่าแก่อายุ 120 ปี อ้างอิงยุคสมัยปนกันหมด ทำคนรุ่นหลังสับสนประวัติศาสตร์ จี้ถามกรมศิลป์ยึดหลักเกณฑ์อะไรในการอนุรักษ์และพัฒนา

วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” โฉมใหม่ยังคงตกอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั้งกลุ่มนักอนุรักษ์เมืองน่าน-โซเชียลมีเดีย อย่างต่อเนื่อง หลังมีการปิดปรับปรุงนานกว่า 3 ปี ด้วยงบประมาณรวม 34,810,000 บาท

แต่การปรับปรุงกลับไม่สอดคล้องกับความเป็นโบราณสถานเก่าแก่อายุกว่า 120 ปี และพื้นที่เมืองเก่าน่าน เช่น ประตูอะลูมิเนียม และมือจับประตูที่เป็นสเตนเลส, ลวดลายบนหน้าบันหรือหน้ามุข ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม, สีตัวอาคาร ตลอดจนกระเบื้องหลังคา เป็นต้น

ล่าสุด นายอนุรักษ์ ธุระกิจเสรี อายุ 47 ปี เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารไฮน่าน ซึ่งเป็นหนังสือด้านการท่องเที่ยว กล่าวว่า การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ครั้งล่าสุดนี้ยอมรับว่าที่ขัดตามากที่สุดเป็นประตู และที่จับประตูที่เป็นอะลูมิเนียมอย่างเด่นชัด แสดงถึงความไม่มีรสนิยม ไม่มีความเป็นเมืองน่าน อีกทั้งการปรับปรุงยังสร้างความสับสนระหว่างช่วงยุคสมัย

นายอนุรักษ์บอกว่า ที่มีการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำการสืบค้นได้เก่าแก่ที่สุดคือย้อนไปจนถึงในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 นำเอาสัญลักษณ์ครุฑลง แล้วปรับหน้าบันใหม่ และเปลี่ยนสีอาคารใหม่ แต่กลับไม่สอดคล้องกับมุขด้านหน้า ที่อ้างอิงในช่วงการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ. 2501 ทำให้การอ้างอิงโบราณสถานเกิดความสับสนในการอธิบายช่วงเวลา และยุคสมัย ซึ่งจะสร้างความสับสนด้านประวัติศาสตร์แก่ชนรุ่นหลัง

“การทำเช่นนี้เท่ากับนับหนึ่งใหม่ให้โบราณสถาน จึงเกิดคำถามถึงมาตรฐานของกรมศิลปากรว่ามีกฎหมาย หรือระเบียบใดชี้ชัดระบุหรือไม่ว่าถึงช่วงเวลาใดจึงสามารถปรับเปลี่ยนโบราณสถานเพื่อให้เกิดการบันทึกประวัติศาสตร์ได้ เหมือนอย่างในต่างประเทศที่มีกฎหมายควบคุมเป็นสากล เพราะเมื่อเกิดความเสียหายแล้วแก้ไขได้ยาก ทั้งที่งบประมาณและเทคโนโลยีสมัยนี้น่าจะทำได้ดี”

นอกจากนี้ยังเกิดความห่วงถึงวัดวาอารามต่างๆ ที่เริ่มมีการปรับปรุงอย่างไร้ทิศทาง-แบบแผน เช่น ประตูวัดชุบโครเมียม ประตูอะลูมิเนียม และการนำสิ่งประดิษฐ์ตกแต่งต่างๆ มาในวัดจนเสียความเป็นวัดเก่าแก่ หรือของตกแต่งที่ไม่ใช่อัตลักษณ์แท้จริง ก็จะทำให้เกิดความสับสน และสูญเสียความเป็นน่านไปได้

กรณีโคมที่นำมาประดับในวัดต่างๆ บางวัดใช้โคมซึ่งเป็นของทางจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่โคมแบบน่าน จึงขอให้นักวิชาการชี้แนะ-เสนอแนวทางที่ถูกต้อง

อยากฝากในฐานะเป็นนักออกแบบด้วย การรื้องานออกแบบคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขอฝากถึงนักออกแบบและนักสถาปัตยกรรมต้องสร้างงานอย่างมีตัวตน และมีกฎหมายควบคุมโบราณสถานที่ชัดเจน เพราะแต่ละเมืองควรมีความเป็นตัวตน มีบุคลิก บอกเล่าวัฒนธรรมรากเหง้าได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจนเสียความเป็นตัวตนเมือง

ขณะที่ นายจาตุรนต์ โลหะโชติ อายุ 30 ปี เจ้าของบ้านคุณหลวง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรุ่นใหม่ แสดงมุมมองเรื่องการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ว่า พิพิธภัณฑ์โฉมใหม่นี้แสดงให้เห็นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านที่ไปคนละทิศทาง ขัดแย้งกับการประชาสัมพันธ์ว่าน่านเป็นเมืองเก่า ขณะที่แหล่งสถานที่ท่องเที่ยวก็ต้องการเอาใจ อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว อยากให้มีการระดมเสนอความคิด เพื่อหาจุดตรงกลางในการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม นางสาวชลลดา สังวร หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านครั้งนี้ได้มีการทำประชาพิจารณ์ เปิดรับแสดงความคิดเห็นทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกภาคส่วนเมื่อปี 2558 ซึ่งขณะนั้นตนทำงานประจำอยู่ที่ จ.เชียงราย แต่ก็ได้เดินทางมาร่วมงานในฐานะวิทยากร

“เชื่อว่าการปรับปรุงครั้งนี้น่าจะมาจากความคิดเห็นหลายๆ ฝ่าย แต่เมื่อเกิดกระแสวิจารณ์ก็จะนำข้อมูลทั้งหมดรายงานต่อส่วนกลางพิจารณาหาข้อสรุปเพื่อคนเมืองน่านต่อไป”





กำลังโหลดความคิดเห็น