xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือ เปิด “พระราชวังเดิม” ให้เข้าสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
อาคารโบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองทัพเรือ เปิด “พระราชวังเดิม” ให้ประชาชนเข้าสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชมโบราณสถานในพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ตั้งแต่วันนี้- 28 ธ.ค.60 เนื่องในโอกาสวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วันที่ 28 ธ.ค.60
ป้อมวิไชยประสิทธิ์
กองทัพเรือ ร่วมกับ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม เปิดโบราณสถานในพระราชวังเดิม ประกอบด้วย ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ท้องพระโรงกรุงธนบุรี ตำหนักเก๋งคู่ ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประชาชนได้เช้าชมและถวายสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งเปิดให้เช่าบูชาวัตถุมงคลและจำหน่ายสินค้าที่ระลึก อาทิ ตราไปรษณียากร หนังสือ เสื้อ ผู้สนใจ เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 28 ธันวาคม 2560 ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น.

“พระราชวังเดิม” หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “พระราชวังกรุงธนบุรี” เป็นพระราชวังหลวงเพียงแห่งเดียวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ ป้อมวิไชยเยนทร์ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดให้สร้างพระราชวังเดิมขึ้นภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทยเมื่อปี พ.ศ.2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการเมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีพร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังหลวงนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคง สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญ
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สำหรับโบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ประกอบไปด้วย
1. อาคารท้องพระโรง เป็นอาคารประธานของพระราชวังเดิม มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ตรีมุข วัสดุมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผาสีส้มชนิดหางเหลี่ยมไม่เคลือบสี ด้านจั่วประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้ง สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2310 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาคารท้องพระโรงประกอบไปด้วย พระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน คือ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะเสด็จออกว่าราชการ ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้ที่อยู่ติดกับพระที่นั่งองค์แรก เรียกกันว่าพระที่นั่งขวาง เป็นส่วนราชมณเฑียร หรือพระราชฐานชั้นกลางอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

2. อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในระหว่างปี พ.ศ.2367 - 2394 โดยคงจะมีพระดำริให้สร้างขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กที่มีมาแต่เดิม มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง ไทยกับจีน หลังคาทรงจั่วแบบจีน ภายในอาคารมีพระทวารและพระแกลแบบไทย ส่วนหลังคามีการเขียนลวดลายจีนแบบปูนเปียก บริเวณหน้าจั่วและคอสองโดยรอบอาคาร สำหรับบริเวณกรอบเช็ดหน้า มีการจำหลักลวดลายเป็นรูปฐานสิงห์ อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกฐานานุศักดิ์ของอาคารที่ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายเท่านั้น
ศาลศีรษะปลาวาฬ
3.อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1- 2 เนื่องจากรากฐานของอาคารอยู่ในระดับชั้นดินของยุคดังกล่าว รูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประตูหน้าต่างให้เข้ากับสภาพอากาศในสมัยหลัง

4. อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ราวปี พ.ศ.2367 - 2394 ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกหรือเรียกว่าตึกแบบอเมริกัน และหากพิจารณาทางด้านประวีติศาสตร์สถาปัตยกรรมอาจถือได้ว่าอาคารนี้เป็นตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาจเป็นตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วปีกนก 2 ด้าน ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคารที่เป็นไม้ ทาด้วยสีเขียวแก่ทั้งหมด อันเป็นสีที่นิยมใช้สำหรับตำหนักหรืออาคารในสมัยนั้น

5. ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมราวปี พ.ศ.2424 - 2443 ได้มีพระดำริให้สร้างแทนศาลหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม

6. ศาลศีรษะปลาวาฬ ในระหว่างการขุดพื้นที่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระตำหนักเก๋งคู่ ได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งจากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี คาดว่าน่าจะเป็นอาคารศาลศีรษะปลาวาฬหลังเดิม ที่ภายในมีประดูกปลาวาฬ โดยศาลหลังนี้ได้พังทลายในวันเดียวกับที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ แล้วไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ จึงได้มีการสร้างขึ้นทดแทนมาในภายหลัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม โทร. 0-2472-7291 (ในเวลาราชการ)
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น