xs
xsm
sm
md
lg

ป้อมปราการของกรุงเทพฯ วันนี้เหลืออยู่เพียง ๓! ๒ ป้อมเชิดหน้าชูตาเมือง แต่อีก ๑ ถูกซุกจนมองแทบไม่เห็น!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

ป้อมพระสุเมรุ
การสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันพระนคร นอกจากจะสร้างที่ปากน้ำเจ้าพระยาที่เมืองสมุทรปราการ เลยเข้ามาถึงนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดงในรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ แล้ว ที่กรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการสร้างป้อมปราการเรียงรายไปตามคลองคูเมือง จากปากคลองบางลำพูไปออกปากคลองโอ่งอ่าง รวม ๑๔ ป้อม และ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็มีการสร้างป้อมปราการเรียงรายไปตลอดคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งขุดขึ้นใหม่เป็นคูเมืองชั้นนอกขึ้นอีก ๘ ป้อม กับที่เหลือมาจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ๑ ป้อม รวมเป็น ๒๓ ป้อม แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๓ ป้อม ๒ ป้อมถูกดูแลอย่างดี เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของเมือง แต่อีกป้อมหนึ่งตกอยู่ในวงล้อมของที่อยู่อาศัยข้าราชการจนแออัด มองเกือบไม่เห็นป้อม

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯให้ขุดคูเมืองขึ้นอีกคลองหนึ่งเพื่อขยายเมืองให้กว้างออกไป เริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใต้วัดสังเวช บางลำพู มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใต้วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข ยาว ๓,๔๒๖ เมตร กว้าง ๒๐ เมตร ลึก ๒.๕ เมตร พระราชทานนามว่า “คลองรอบกรุง” ขนานกับคลองคูเมืองเดิมที่ขุดในสมัยกรุงธนบุรีจากท่าช้างวังหน้าไปปากคลองตลาด และนำอิฐรวมทั้งอิฐซากกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยามาสร้างกำแพงเมืองใหม่ตลอดแนวคลองฝั่งตะวันตก พร้อมป้อมปราการเรียงรายไปตามกำแพง ๑๔ ป้อม คือ

ป้อมพระสุเมรุ อยู่ทางปากคลองบางลำพู
ป้อมยุคลธร อยู่หน้าวัดบวรนิเวศ
ป้อมมหาปราบ อยู่แถวสะพานวันชาติ
ป้อมมหากาฬ อยู่เชิงสะพานผ่านฟ้า
ป้อมหมูทะลวง อยู่ตรงสวนรมณีย์นาถ
ป้อมเสือทะยาน อยู่ตรงสามยอด
ป้อมมหาไชย อยู่หน้าวังบูรพาภิรมย์
ป้อมจักรเพชร อยู่ปากคลองโอ่งอ่างด้านเหนือ
นอกจากนี้ยังสร้างป้อมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเรียงไปต่อกับป้อมพระสุเมรุด้วย คือ
ป้อมผีเสื้อ อยู่เหนือสะพานพุทธยอดฟ้า
ป้อมมหาฤกษ์ อยู่ตรงโรงเรียนราชินีล่าง
ป้อมมหายักษ์ อยู่หน้าวัดโพธิ์
ป้อมพระจันทร์ อยู่ตรงท่าพระจันทร์
ป้อมพระอาทิตย์ อยู่ตรงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ป้อมอิสินธร อยู่ระหว่างป้อมพระอาทิตย์กับป้อมพระสุเมรุ

ปัจจุบันป้อมชุดนี้ยังคงเหลืออยู่เพียง ๒ ป้อมเท่านั้น คือ ป้อมพระสุเมรุ กับ ป้อมมหากาฬ พร้อมกำแพงเมืองไปถึงหน้าวัดเทพธิดา และเหลือกำแพงพร้อมประตูเมืองที่หน้าวัดบวรนิเวศอีกช่วงหนึ่งเป็นอนุสรณ์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริในปีแรกที่ครองราชย์ ให้ขุดคลองคูเมืองชั้นนอกอีกคลองหนึ่ง เพื่อขยายเมืองให้กว้างออกไป ซึ่งก็ได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว หรือประมาณ ๕,๕๕๒ ไร่ เริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใต้วัดเทวราชกุญชร เทเวศม์ ตัดผ่านคลองมหานาค เป็น “สี่แยกมหานาค” ผ่านทุ่งหัวลำโพง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือวัดแก้วแจ่มฟ้า ซึ่งเดิมอยู่ที่ปากคลองด้านนี้ก่อนจะย้ายมาอยู่ถนนสี่พระยาในปัจจุบัน ลงมือขุดเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๓๙๔ แล้วเสร็จในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๓๙๕ เป็นเวลาเกือบ ๑๐ เดือน มีความยาว ๕,๔๘๐ เมตร กว้าง ๒๐ เมตร ลึก ๓ เมตร สิ้นค่าจ้างขุดเป็นเงิน ๒๗,๕๐๐ บาท พระราชทานนามว่า “คลองผดุงกรุงเกษม” แล้วโปรดให้สร้างกำแพงเมืองตามแนวคลอง มีป้อมเป็นระยะรวม ๘ ป้อม พระราชทานนามคล้องจองกันว่า

ป้อมป้องปัจจามิตร อยู่ตรงกับปากคลอง แต่ข้ามแม่น้ำไปอยู่ที่ปากคลองสาน
ป้อมปิดปัจนึก อยู่ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ร่วมกันป้องกันทางแม่น้ำ
ป้อมฮึกเหี้ยมหาญเป็นป้อมเล็กๆ อยู่ข้างป้อมปิดปัจนึก สำหรับตั้งปืนยิง
สลุตต้อนรับแขกเมือง
ป้อมผลาญไพรีราบอยู่ตรงหัวลำโพงฝั่งวัดไตรมิตร
ป้อมปราบศัตรูพ่ายอยู่ข้างวัดเทพศิรินทร์
ป้อมทำลายแรงปรปักษ์อยู่หัวมุมถนนหลานหลวง ตรงสะพานขาว
ป้อมหักกำลังดัสกรอยู่ตรงสะพานมัฆวาน
ป้อมพระนครรักษาอยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านเทเวศร ฝั่งใต้

ในขณะนั้นกรุงเทพฯยังมีป้อมปราการเก่าแก่ที่สุดอีกป้อมหนึ่ง คือ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่หน้าพระราชวังเดิม ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นป้อมที่สร้างขึ้นตามวิทยาการตะวันตก โดย เจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ฝรั่งชาวกรีกที่เข้ามารับราชการสยาม และสร้างเป็น ๒ ป้อมคู่กันทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกที่ตำบาลบางกอก ผูกโซ่ขึงกั้นแม่น้ำไว้ เรียกกันว่า “ป้อมวิชเยนทร์” และ “ป้อมบางกอก” ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงให้รื้อป้อมฝั่งตะวันออกลง ซึ่งก็ตรงที่เป็นโรงเรียนราชินีล่างในปัจจุบัน จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้แปลงบริเวณป้อมวิชเยนทร์เป็นตำหนักที่ประทับ ซึ่งก็คือพระราชวังเดิมในปัจจุบัน และขนานนามใหม่ว่า “ป้อมวิชัยประสิทธิ์”

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้กองทัพเรือ เพื่อใช้เป็นโรงเรียนนายเรือ ปัจจุบันกองทัพเรือได้ใช้พระราชวังเดิมเป็นกองบัญชาการ ใช้ป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นที่ยิงสลุต และชักธงราชนาวีร่วมกับธงประจำตัวผู้บัญชาการทหารเรือ

ในปัจจุบัน ป้อมปราการของกรุงเทพฯทั้งหมดนี้เหลืออยู่เพียง ๓ ป้อมเท่านั้น คือป้อมพระสุเมรุ ที่ถนนพระอาทิตย์ ปากคลองบางลำพู ซึ่งเป็นป้อมที่อยู่ในสุดของเจ้าพระยา และเป็นป้อมที่ได้รับการบูรณะจนสวยกว่าทุกป้อมที่เหลืออยู่ เป็นป้อมมีผู้นิยมไปเยี่ยมเยียนมากที่สุดทั้งไทยและเทศ

ป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมรุ่นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๖ มีลักษณะเป็นรูป ๖ เหลี่ยม มีฐาน ๒ ชั้น กระโจมป้อมและเสมาผิดกับป้อมทั้งมวล ซึ่งยังมีสภาพเดิมอย่างสมบูรณ์ และได้รับการบูรณะมาตลอด บริเวณป้อมยังถูกสร้างให้เป็นสวนสาธารณะ สันติชัยปราการ สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

ป้อมปราการรุ่นรัชกาลที่ ๑ จำนวน ๑๔ ป้อมนี้ ยังเหลืออยู่อีกป้อมหนึ่ง คือ ป้อมมหากาฬ ที่ผ่านฟ้า ซึ่งได้รับการบูรณะมาตลอดเช่นกัน ปัจจุบันได้ปรับปรุงบริเวณด้านหลังของป้อมที่เป็นชุมชนอยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน ให้เป็นสวนสาธารณะต่อไป

ส่วน ๘ ป้อมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรียงรายไปตามคลองผดุงกรุงเกษม คลองนี้เป็นย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มีเรือขนสินค้ามาส่งตามย่านของสินค้าริมฝั่งคลอง เช่น ปากคลองด้านเทเวศร์เป็นตลาดข้าวและวัสดุก่อสร้าง รวมทั้ง อิฐ กรวด หิน กระเบื้อง ไม้เสา และไม้กระดาน ย่านสะพานเทวกรรมมีชาวมอญนำโอ่งดินจากสามโคก ปทุมธานี มาวางขาย จนเรียกย่านนี้ว่า “อีเลิ้ง” ซึ่งเป็นภาษามอญแปลว่า “โอ่ง” ต่อมาคนไทยเห็นว่าไม่สุภาพ เลยเรียกกันใหม่ว่า “นางเลิ้ง” ส่วนย่านสี่แยกมหานาคเป็นตลาดผลิตผลทางการเกษตร ทั้งผักและผลไม้ ที่หัวลำโพงก็มีโกดังสินค้าที่ขนมาทางรถไฟ ปากคลองมีโรงน้ำแข็งของบริษัทนายเลิศ ทั้งยังมีโรงสี โรงเลื่อยอยู่ริมคลองหลายแห่ง ป้อมปราการริมฝั่งคลองซึ่งหมดความสำคัญแล้ว เลยกลายเป็นสิ่งกีดขวางถนนและบ้านเรือน มีผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตรื้อออกทีละป้อม จนป้อมรุ่นนี้เหลือยู่เพียงป้อมเดียว คือ “ป้อมป้องปัจจามิตร” ที่ไม่ได้อยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม แต่ข้ามไปอยู่ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี

ป้อมป้องปัจจามิตร สร้างขึ้นในปี ๒๓๙๕ จนในปี ๒๔๙๒ ป้อมป้องปัจจามิตรมีสภาพทรุดโทรมมาก เทศบาลนครธนบุรีจึงมีดำริที่จะรื้อป้อมทิ้งเพื่อปรับสถานที่ และนำเศษอิฐเศษปูนไปถมถนนต่างๆ กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนป้อมปัจจามิตรเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในปี ๒๔๙๒ นั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรมเจ้าท่ายังใช้ป้อมปัจจามิตรเป็นที่ตั้งเสาธงสัญญาณ เพื่อชักธงแจ้งข่าวว่าเรือเข้าเรือออกว่าเป็นเรือของบริษัทใด และสร้างบ้านพักของพนักงานดูแลเสาธงอยู่ในบริเวณป้อมด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ย้ายเสาธงสัญญาณจากบนป้อมมาอยู่บริเวณใกล้เคียง แต่ไม่ได้รื้อบ้านพักพนักงานบนป้อมด้วย

ปัจจุบัน ป้อมป้องปัจจามิตรยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และได้รับการบูรณะ แต่ด้านหน้าที่เป็นซอยเล็กๆ ก็ถูกประกบด้วย สน.ปากคลองสาน และ สน.สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งสร้างเคียงคู่กัน ส่วนโดยรอบก็ถูกขนาบด้วยแฟลตที่พักเจ้าหน้าที่ตำรวจจนชิด ส่วนบนป้อมที่เคยใช้เป็นสนามกีฬาเล็กๆ ปัจจุบันเป็นที่เพาะชำต้นไม้ของเขตปากคลองสาน

ทุกวันนี้ เมื่อเราเห็นป้อมพระสุเมรุ ป้อมมหากาฬ หรือป้อมวิชัยประสิทธิ์ เราก็มีความภูมิใจในวัตถุล้ำค่าของชาติที่ยังเหลืออยู่ให้รำลึกถึงความเป็นมาของชาติ ขณะเดียวกันก็รู้สึกหดหู่และเสียดายในสิ่งที่ไม่เหลือแล้ว ถ้าเรามีจิตสำนึกและรู้ซึ้งถึงคุณค่าสมบัติของชาติให้เร็วกว่านี้ เราก็จะมีสิ่งที่ทำให้เราภูมิใจได้อีกมาก
ป้อมมหากาฬ
ปากทางเข้าป้อมป้องปัจจามิตร
บนป้อมเป็นที่เพาะชำต้นไม้
เสาธงสัญญาณที่ปากคลองสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น