xs
xsm
sm
md
lg

ท่านชายได้เฮ! ซินโครตรอนผลิตเครื่องเพาะเลี้ยง “ถั่งเช่า” อัจฉริยะสำเร็จ หนุนเกษตรกรเพาะขายโกยรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ถั่งเช่าเพาะเลี้ยงในตู้เลี้ยง
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ซินโครตรอน” ร่วมเอกชนพัฒนาระบบอัจฉริยะเพาะเลี้ยง “ถั่งเช่าสีทอง” เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมที่สุด-ถั่งเช่าเจริญเติบโตเร็วและอุดมไปด้วยสารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูง เผยผลิต “เครื่องเพาะถั่งเช่าอัตโนมัติ” ต้นแบบสำเร็จแล้ว เพียงเครื่องละ 6-7 หมื่น เตรียมผลิตให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงถั่งเช่าคุณภาพสูงขายโกยรายได้ พร้อมรุกต่อเฟส 2 ยกระดับเป็นเครื่องประสิทธิภาพสูงสุด
เครื่องเพาะเลี้ยงถั่งเช่าอัตโนมัติ ต้นแบบ
ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
วันนี้ (15 ม.ค.) ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “ถั่งเช่า” เป็นสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศทิเบตสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต นอกจากนี้ยังช่วยชะลอความแก่ชรา ลดคอเลสเตอรอล บรรเทาและรักษาอาการโรคหอบหืด เป็นต้น ถั่งเช่าทิเบตเป็นที่ต้องการสูงในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเสริมสุขภาพ ประกอบกับเป็นของหายากจึงทำให้ถั่งเช่าทิเบตมีราคาแพง

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายประเทศทำการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าธรรมชาติสายพันธุ์อื่นๆ (มีมากกว่า 350 สายพันธุ์) เพื่อให้ได้สาระสำคัญมาทดแทน แต่ยังคงคุณสมบัติการออกฤทธิ์ทางยาเช่นเดิม

สำหรับในประเทศไทยพบว่า มีบริษัท เซโก้ฟาร์ม และ กลุ่มผู้ประกอบการ OLINTA จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถเลี้ยง “ถั่งเช่าสีทอง” จาก “ด้วงสาคู” ที่เป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนได้ ทั้งนี้ บริษัท เซโก้ ฟาร์ม หนึ่งในกลุ่มธุรกิจ SME ของประเทศไทย ผู้เลี้ยงและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทอง ได้เข้ามาหารือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ถึงแนวทางการพัฒนากรรมวิธีในการเลี้ยงถั่งเช่าตามแนวคิด “Smart Farmer” ทำให้เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ถั่งเช่าเพาะเลียงในตู้เลี้ยง
ถั่งเช่าสีทอง
โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้เข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าว โครงการนี้มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร โดยปัจจัยที่จะทำให้การขับเคลื่อนนี้ประสบผลสำเร็จ คือ กลไกการสนับสนุนให้นักวิจัยในภาครัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.รุ่งเรืองกล่าวอีกว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับ บริษัท เซโก้ ฟาร์ม พัฒนาระบบอัจฉริยะเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองให้ได้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ถั่งเช่าเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และอุดมไปด้วยสารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อทีมวิจัยนำถั่งเช่าที่เพาะเลี้ยงด้วยวิธีการดังกล่าว ไปวิเคราะห์สารสำคัญด้วยแสงซินโครตรอน พบว่า มีปริมาณสารคอร์ไดซิปิน และสารอะดีโนซีน สูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งสารอะดีโนซีนเป็นสารสำคัญที่มีอยู่ในถั่งเช่า มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอล กระตุ้นการเผาผลาญ สร้างเสริมพละกำลัง และสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้แก่ร่างกาย ส่วนสารคอร์ไดซิปิน มีบทบาทในการต้านมะเร็งปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ยับยั้งการเกิดและต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันหลอดเลือดตีบ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือด

สำหรับวิธีการเลี้ยงถั่งเช่าแบบ “Smart Farmer” ตามแนวคิดของ บริษัท เซโก้ ฟาร์ม เป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างดี รวมทั้งยังสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นำพาประเทศสู่ Thailand 4.0
ได้อย่างแท้จริง

ดร.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ล่าสุดทีมวิจัยได้ผลิต “เครื่องเพาะถั่งเช่าอัตโนมัติต้นแบบ” ออกมาแล้ว มีลักษณะคล้ายตู้เย็น 2 ประตู มีความพิเศษ คือ ควบคุมอุณหภูมิได้แม่นยำ และจะผลิตให้เกษตรกรเครือข่ายเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าคุณภาพต่อไป โดยใช้งบประมาณ 60,000-70,000 บาท/เครื่อง ซึ่งเป็นอีกนโยบายของกระทรวงที่จะมอบให้กับประชาชนชาวไทยเป็นของขวัญปีใหม่ 2561 ด้วย คาดว่าจะส่งมอบให้เกษตรกรนำไปใช้ประมาณเดือน มี.ค. 2561 นี้แน่นอน

โดยขณะนี้ทีมวิจัยกำลังดำเนินการในเฟสที่ 2 คือ การพัฒนาเครื่องเพาะถั่งเช่า ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถคอนโทรลได้ทั้งแสง อุณหภูมิ ความชื้น และระยะเวลาการเพาะเลี้ยง เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่เกษตรกรต่อไป
ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.เมือง จ.นครราชสีมา


กำลังโหลดความคิดเห็น