นครปฐม - ผอ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ นำคณะนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 58 เข้าเยี่ยมชมการจัดแสดงกิจกรรม และผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม เผยมีความประทับใจในกิจกรรมของมหาวิทยาลัยฯ ที่มีศักยภาพสูงมาก
เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.ไชยอนันต์ จันทคณานุรักษ์ ผอ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ได้นำคณะนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 58 เดินทางเข้าเยี่ยมชมการจัดแสดงกิจกรรมและผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม โดย พล.อ.ต.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานนักศึกษา วปอ.58 ได้เดินทางมาด้วย โดยมี ดร.อนามัย ดำเนตร รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลำดับที่ 14/1 และคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศสตร์ นักศึกษา วปอ.58 หมู่นกยูง ให้การตอนรับ
เมื่อเดินทางถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ พล.ท.ไชยอนันต์ ได้นำคณะนักศีกษาไปสักการะพระพิรุณ และปลูกต้นชมพูพันธ์ทิพย์ เพื่อเป็นที่ระลึก จากนั้นได้เดินทางมายังอาคารศูนย์มหาวิทยาลัยเพื่อฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จาก รศ.ดร.ตฤณ แสงสุวรรณ รักษาการรองอธิการบดีประจำวิทยาเขตกำแพงแสน และเยี่ยมชมนิทรรศการจากคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ คณะเกษตร กำแพงแสน คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสถาบัน สำนักต่างๆ อีกมากมาย
พล.ท.ไชยอนันต์ จันทคณานุรักษ์ ผอ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจในการต้อนรับอย่างอบอุ่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีศักยภาพสูงมาก พร้อมกันนี้ พล.ท.ไชยอนันต์ ยังได้กล่าวขอบคุณหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ที่ได้มาร่วมจัดกิจกรรมในวันนี้ด้วย
ส่วน พล.อ.ต.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานนักศึกษา วปอ.58 ได้กล่าวแสงความยินดีที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการจัดแสดงกิจกรรม และผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม พร้อมกับได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำนวน 100,000 บาท เพื่อให้มหาวิทยาลัยฯ คัดเลือกนิสิตที่มีความเหมาะสมมารับทุนการศึกษาต่อไป ขณะที่ ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัมหิดล ได้เชิญชวนผู้สนใจร่วมสมทบทุนบริจาคสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาโรงพยาบาลศิริราชด้วย
สำหรับการจัดแสดงกิจกรรมและผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม ในครั้งนี้ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รองผู้อำนวยการกองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ร่วมกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ในความดูแลของ พ.อ.กฤตพันธุ์ รักใคร่ และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นำเสนอผลงาน และกิจกรรมเรื่อง “สถานีเกษตร นพค.34 องค์ความรู้ สู่ประชาชน”
พ.อ.กฤตพันธุ์ รักใคร่ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34) จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต้อนรับ ผอ.สถาบัน วปอ. และคณะนักศึกษา วปอ. 58 โดยได้จัดเครื่องดื่มผสมหมามุ่ยอินเดียแท้ 100% ไว้ต้อนรับ สำหรับผลิตภัณฑ์หมามุ่ยอินเดียแท้ 100% จาก นพค. 34 นี้เป็นผลงานจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีเกษตร นพค.34 องค์ความรู้ สู่ประชาชน
“สำหรับสถานีเกษตรนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใน นพค.34 จังหวัดพิษณุโลก ซึ่ง พล.ต.ทำนุ โพธิ์งาม ผอ.สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สอดคล้องต่อภารกิจของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ที่จะเป็นที่พึ่ง ช่วยเหลือประชาชนทั้งในยามเกิดภัยพิบัติ และยามสงบสุข รวมทั้งส่งเสริมความกินดีอยู่ดี เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายใน 4 จังหวัดความรับผิดชอบได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร และอุตรดิตถ์”
พ.อ.กฤตพันธุ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใน นพค.34 นั้น นอกจากมีสถานีหมามุ่ยอินเดียแล้ว ยังมีสถานีอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่ สถานีก๊าซผักตบชวา สถานีไส้เดือน สถานีปุ๋ยน้ำชีวภาพ สถานีหมามุ่ยอินเดีย สถานีกวาวเครือขาว สถานีไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ สถานีไก่ดำเคยู พูพาน สถานีไก่เคยู เบตง สถานีไก่เคยู เล็กฮอร์น สถานีสุกร สถานีไข่มดแดง สถานีนกกระทา สถานีดิน สถานีถั่งเช่า สถานีเห็ดเศรษฐกิจ สถานีผักปลอดสารพิษ
“ในเร็ววันนี้ จะเกิดสถานีใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น สถานีกุ้งเครฟิช สถานีปลาเศรษฐกิจ สถานีสาหร่ายกรีน คาเวียร์ (สาหร่ายพวงองุ่น) สถานีถั่วดาวอินคา เป็นต้น ผู้สนใจองค์ความรู้ต่างๆ ด้านเกษตรที่ต้องการมีความรู้พื้นฐาน และการนำไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นรายได้เสริม หรือสร้างอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส สามารถเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาได้ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นพค.34 ตำบลหัวรอ จังหวัดพิษณุโลก ในวันและเวลาราชการ โดยการบรรยาย และให้ความรู้จากทีมวิทยากรคุณภาพของ นพค.34” พ.อ.กฤตพันธุ์ กล่าว
อนึ่ง ผู้สนใจเข้าชมองค์ความรู้ต่างๆ ด้านการเกษตร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่อาจารย์ขวัญชัย นิ่มอนันต์ ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการ กองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 09-5054-8240 หรือ 08-3559-8448 อีเมล mppf@ku.ac.th หรือ molku@ku.ac.th ไลน์ ไอดี microku หรือ ajmaew