xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้ว “สถานีก๊าซผักตบชวา” ภาคีเครือข่ายแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดรับผู้สนใจเข้าเรียนรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - เปิดแล้ว “สถานีก๊าซผักตบชวา” ภาคีเครือข่ายแห่งแรกของประเทศไทย โครงการภาคีเครือข่ายผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559 ที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมเปิดรับผู้สนใจเข้าเรียนรู้

รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รองผู้อำนวยการกองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางกองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดโครงการ “ภาคีเครือข่าย ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559” และเปิด “สถานีก๊าซผักตบชวา” ภาคีเครือข่ายฯ แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้เข้าร่วมในพิธีจำนวนมาก

สำหรับ “สถานีก๊าซผักตบชวา” ภาคีเครือข่ายฯ แห่งแรกของประเทศไทยนี้ตั้งอยู่ที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย

รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ เนื่องจากในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 นี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา ดังนั้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559 กองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ฯ มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถอดบทเรียนจากผลงานวิจัยเรื่อง “การผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2558-59 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดโครงการ “ภาคีเครือข่าย ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559” ขึ้น และเปิดสถานีก๊าซผักตบชวา ภาคีเครือข่ายฯ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา

“ภายในสถานีก๊าซผักตบชวา ภาคีเครือข่ายฯ นั้น คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ได้จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยของคณะวิจัยได้แก่ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้แก่ทีมวิทยากร “แปดเซียนกู้โลก” จาก นพค.34 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการแก้ปัญหาผักตบชวา ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักตบชวา โดยการเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาแล้ว ยังจะช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือนด้านพลังงานทดแทนให้แก่เกษตรกรได้” รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ กล่าว และกล่าวต่อว่า

สำหรับขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ทำได้ง่ายโดยนำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง หมักทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ประมาณ 20-40 นาที ขึ้นอยู่กับศักยภาพของจุลินทรีย์ หลังจากนั้น สามารถเติมผักตบชวาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ การเกิดก๊าซชีวภาพจะลดลงในเวลาประมาณ 3-5 เดือน กากผักตบชวาหลังการหมักเสร็จสิ้นแล้วยังมีประโยชน์ เนื่องจากยังคงมีธาตุอาหารเหลืออยู่ สามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้ เพื่อเป็นวัสดุบำรุงดิน และช่วยกักเก็บความชื้นในดินได้

รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ เปิดเผยอีกว่า ทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการวิจัย โดยได้ค้นพบจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูงที่สามารถย่อยผักตบชวา ได้ผลผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซชีวภาพ จากนั้นคณะทำงานได้ประยุกต์จากงานวิจัยที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ให้มาเป็นวิธีการอย่างง่าย และถอดบทเรียนเพื่อเกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ง่าย และทำใช้ได้เองในชีวิตประจำวัน

“โครงการฯ คาดหวังว่า ภาคีเครือข่ายที่เกิดขึ้นแห่งแรก ณ นพค.34 ตำบลหัวรอ จังหวัดพิษณุโลก และภาคีเครือข่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่งในปี 2559 นี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการร่วมแรงร่วมใจถวายเป็นพระราชกุศล ด้วยการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผักตบชวา โดยเพิ่มมูลค่าแก่ผักตบชวา ด้วยการเปลี่ยนให้เป็นพลังงานทดแทน สำหรับใช้เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือนขนาดเล็ก หรือในชุมชนของตนได้ เมื่อใดที่ต้องการก๊าซหุงต้ม เมื่อนั้นเกษตรกรสามารถผลิตก๊าซชีวภาพใช้ได้เองจากผักตบชวาที่เป็นวัชพืชอยู่ในแหล่งน้ำใกล้บ้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สองต่อ คือ การกำจัดผักตบชวา และการได้มาซึ่งพลังงานทดแทนในครัวเรือน”

ด้าน พ.อ.กฤตพันธุ์ รักใคร่ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีพิธีเปิด “สถานีก๊าซผักตบชวา” ภาคีเครือข่าย แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชินี ปี 2559 โครงการนี้ทางหน่วยได้วางแผนดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดย พล.ต.ทำนุ โพธิ์งาม ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สอดคล้องต่อภารกิจของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ที่จะเป็นที่พึ่งช่วยเหลือประชาชนทั้งในยามเกิดภัยพิบัติ และยามสงบสุข

รวมทั้งส่งเสริมความกินดีอยู่ดี เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ใน 4 จังหวัดความรับผิดชอบ ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร และอุตรดิตถ์ นอกจากนี้ สถานีก๊าซผักตบชวาตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใน นพค.34 เป็นแหล่งเรียนรู้วิธีการเปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพแบบง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใน นพค.34 ยังมีสถานีเกษตรที่น่าสนใจอีก 6 สถานี ได้แก่ สถานีไส้เดือน สถานีปุ๋ยน้ำชีวภาพ สถานีหมามุ่ยอินเดีย สถานีกวาวเครือขาว สถานีไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ สถานีไก่ดำเคยู ภูพาน ซึ่งในอนาคตอันใกล้ นพค.34 จะทยอยตั้งสถานีเกษตรที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

ผู้สนใจองค์ความรู้ต่างๆ ด้านเกษตรที่ต้องการมีความรู้พื้นฐาน และการนำไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นรายได้เสริม หรือสร้างอาชีพสามารถเข้ามาเยี่ยมชม และศึกษาได้ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นพค.34 ตำบลหัวรอ จังหวัดพิษณุโลก ในวันและเวลาราชการ โดยการบรรยาย และให้ความรู้จากทีมวิทยากร นพค.34 พวกเราชาว นพค.34 ยินดี และพร้อมต้อนรับทุกท่าน

ทางด้าน นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย นพค.34 เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิฯ ในพระราชวงค์ นำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ทันสมัย สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ทำให้ประชาชนกินดี อยู่ดี และมีความสุข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ไม่เพียงในสภาวะเกิดภัยภิบัติเท่านั้นที่จะได้ความช่วยเหลือจาก นพค.34 อย่างเต็มที่และทันท่วงที เมื่อประชาชนอยู่ในสภาวะปกติ นพค.34 ยังได้ช่วยดูแลด้านอาชีพ การหาเลี้ยงชีพ และการเพิ่มรายได้ผ่านการให้ความรู้ด้านการเกษตรอีกทางหนึ่งด้วย

ผู้สนใจองค์ความรู้เรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง สามารถสมัครเข้ารับการอบรม หรือสนใจสมัครร่วมเป็นภาคีเครือข่าย “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” หรือสนใจองค์ความรู้ด้านการเกษตร ด้านต่างๆ ติดต่อสอบถามได้ที่อาจารย์ขวัญชัย นิ่มอนันต์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 09-5054-8240 หรือ 08-3559-8448 อีเมล mppf@ku.ac.th หรือ molku@ku.ac.th ไลน์ไอดี microku หรือ ajmaew






กำลังโหลดความคิดเห็น