xs
xsm
sm
md
lg

ใช้ได้จริง! ขยายผลพลังงานทดแทนเข้าถึงชุมชน จ.ขอนแก่นใช้พลังงานแสงอาทิตย์อบข้าวเปลือก-สูบน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - พลังงาน จ.ขอนแก่นเดินหน้าขยายผลเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่ ต.สาวะถี อ.เมืองขอนแก่น เป็นรูปธรรม ชูศูนย์ผลิตข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ใช้เตาเศรษฐกิจประยุกต์ และโรงอบข้าวเปลือกพลังงานแสงอาทิตย์ ลดใช้ไฟฟ้าและร่นระยะเวลาตากข้าวเปลือก ทั้งใช้เทคโนโลยีสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยเกษตรกรปลูกพืชในฤดูแล้งจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ
โรงอบข้าวเปลือกพลังแสงอาทิตย์ ร่นเวลาตากข้าวเปลือกและใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก
วันนี้ (10 ม.ค. 61) ที่ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นายชุมพล เดชดำนิล พลังงานจังหวัดขอนแก่น กระทรวงพลังงาน นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการผลิตข้าวชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบ กระทรวงพลังงานให้การส่งเสริม นำพลังงานทดแทนมาใช้ในกระบวนการแปรรูปข้าวเปลือก ทั้งการอบข้าวเปลือก สีข้าว จนเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวฮาง ข้าวสีนิล บรรจุในผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายชุมพล เดชดำนิล พลังงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า การส่งเสริมพลังงานทดแทนในระดับชุมชนเป็นการขยายผลเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในชุมชนให้สอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งของประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่

ทั้งนี้ รายละเอียดการดำเนินงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี สำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น ได้ส่งเสริมเทคโนโลยีเตาเศรษฐกิจประยุกต์แบบร้อยเอ็ด และโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดระยะเวลาการผลิต จากเดิมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปด้วยวิธีการนึ่งข้าวโดยเตาแบบ 3 ขา และตากข้าวเปลือกด้วยแสงแดด ต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หลังจากการติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานทดแทนดังกล่าวลดระยะเวลาให้เหลือเพียง 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งช่วยให้เกิดประสิทธิภาพของการแปรรูปข้าวให้ดียิ่งขึ้น
นายชุมพล เดชดำนิล พลังงานจังหวัดขอนแก่น

ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า และลดระยะเวลาตากข้าวเปลือกลงได้มากกว่า 50% จากเดิมที่ตากข้าวต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์ ร่นระยะเวลาเหลือแค่ 2-3 วันเท่านั้น ส่วนการขยายผลต้องอยู่ที่กลุ่มวิสาหกิจแต่ละพื้นที่ต้องการเพิ่มโรงอบ หรือเตาเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งกระทรวงพลังงานวางกรอบให้ชุมชนต้องร่วมลงทุนด้วยประมาณร้อยละ 30

ขณะเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชบ้านป่าหวายนั่ง ที่อยู่ใกล้เคียงกันที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มะระ แตงโม ข้าวโพด และอ้อย สำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่นได้ส่งเสริมเทคโนโลยีสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3,000 วัตต์ พร้อมถังเก็บน้ำขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูร้อนของทุกปีที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและแห้งแล้ง ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งได้ และบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบยิ่งขึ้น

นายชุมพลกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นอกจากจะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามศักยภาพพื้นที่แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น โดยรายได้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรังอยู่ที่ประมาณ 84,000-250,000 บาท

ขณะที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชบ้านป่าหวายนั่งมีรายได้ประมาณ 50,000-56,000 บาท ซึ่งช่วยให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน และยังได้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า พร้อมไปกับการตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น