แพร่ - กลุ่มเกษตรกรจังหวัดแพร่ดิ้นหาพลังงานทางเลือกร่วมกับพระที่เชี่ยวชาญเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าช่วยกันประดิษฐ์ลดแผงรับแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ได้พลังงานเท่าเดิม ระบุอยู่นิ่งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐมีแต่อดตาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสการใช้พลังงานทางเลือก ทั้งชีวมวลที่ได้จากฟาร์มปศุสัตว์ และพลังงานแสงอาทิตย์กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดแพร่ ในขณะที่ต้องค้นหาความรู้กันเองมากกว่าการสนับสนุนจากภาครัฐ
พลังงานทางเลือกเริ่มเข้ามามีบทบาทในจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดแพร่กำลังค้นหาวิธีการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ฟาร์มสุกรหลายแห่งนำมูลสุกรมาใช้ในฟาร์มเพื่อลดต้นทุน เกษตรกรในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิต โดยหันมาศึกษาอย่างจริงจังต่อเทคนิคการใช้ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต
พระทรงสิทธิ์ สันตะมะโน พระวัดวังหินเจริญธรรม ต.วังหิน อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งอุปกรณ์ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบประหยัด กล่าวว่า การที่เข้ามาช่วยสอนให้แก่เกษตรกรที่สนใจในการปรับการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้แผงรับแสงที่เหมาะสม เมื่อเปลี่ยนแสงมาเป็นพลังงานไฟฟ้าสามารถใช้กับเครื่องสูบน้ำได้โดยตรง และไฟส่วนเกินลงชาร์จในแบตเตอรี่ เมื่อแสงหมดพลังงานที่สะสมในแบตเตอรี่ก็จะไหลเข้ามาแทน ทำให้สามารถเพิ่มเวลาในการสูบน้ำ หรือใช้เพื่อแสงสว่างได้ในระยะเวลาที่ยาวขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไปด้วย
เทคนิคนี้เกษตรกรไม่ต้องลงทุนซื้อแผงรับแสงจำนวนมาก เพียงมีแผงขนาด 280 ถึง 300 วัตต์ เพียง 2 แผงก็สามารถใช้ไฟได้แล้ว ซึ่งในปัจจุบันขาดการส่งเสริมจากภาครัฐทำให้อุปกรณ์มีราคาสูงมากจนเกษตรกรเข้าไม่ถึงการใช้พลังงานดังกล่าว ในภาพรวมแล้วการใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศไทยยังไม่มีใครที่เชี่ยวชาญจริง และรัฐไม่สนับสนุนเป็นเพราะเรื่องของเศรษฐกิจที่ต้องการผลตอบแทนสูง กลุ่มพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์จึงอยู่ในช่วงกอบโกย ทำให้อุปกรณ์มีราคาสูงมาก
นายสุเทพ กิตติกมลพันธ์ เกษตรกรในบ้านเวียงทอง หมู่ 8 ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น มีที่ดินอยู่ 30 ไร่ หลังจากเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวหันมายึดแนวผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พบว่ารายได้จากแปลงเกษตรนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนใหญ่เป็นค่าเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ ทั้งน้ำมัน และไฟฟ้ามีราคาสูงมาก ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีกำไรน้อย
สมาชิกในกลุ่มจึงคิดหาวิธีลดต้นทุนด้วยการค้นหาเทคนิคการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อนำมาใช้ในแปลงเกษตร แม้ว่าในพื้นที่จะมีแสงแดดให้ใช้พลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ได้ทั้ง 12 เดือนใน 1 ปี แต่ก็พบว่าการใช้เครื่องมือยังไม่มีเทคนิคที่ดีพอในการทำให้พลังงานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถือเป็นเรื่องที่ดีที่พระครูเข้ามาช่วยสอนวิธีการดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดพลังงาน และถือเป็นพลังงานทางเลือก “เกษตรกรบ้านเราไม่เคยอยู่นิ่ง มีการรวมกลุ่มกันเพื่อคิดค้น และพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ กันเอง และหากจะรอภาครัฐเข้าช่วยส่งเสริม หรือสนับสนุนก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ได้แต่นั่งรอ และไม่มีอนาคตแน่ เราจึงต้องขวนขวายหาความรู้กันเองจะดีกว่า”