อุบลราชธานี/มุกดาหาร - อดีตพนักงาน ก.สาธารณสุขเมื่อ 17 ปีก่อน รวมตัวยื่นหนังสือเรียกร้องถึงนายกฯ คืนความชอบธรรมให้กลุ่มพนักงานของรัฐ ซึ่งต่อมาได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะอายุราชการขาดหายไปเกือบ 4 ปี เสียทั้งสิทธิประโยชน์ใช้เป็นฐานคำนวณอายุราชการในวัยเกษียณ และการเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ช้ากว่าเด็กรุ่นน้องที่ปัจจุบันอัตราเงินเดือนมากกว่ารุ่นพี่ที่ทำงานมาก่อน
วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดอุบลราชธานี ชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543-2546 นำโดยนางสรัสวดี ธานี สมาชิกของชมรมฯ ปัจจุบันรับราชการเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี พร้อมเพื่อนสมาชิกรวมประมาณ 20 คน ได้เข้ายื่นหนังสือกับนายวิจิตร เจียมวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องขออายุราชการที่เสียไประหว่างทำงานให้กับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 17 ปีก่อน
ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงปี 2543-2546 รัฐบาลมีนโยบายลดจำนวนข้าราชการ ทำให้พวกตนที่เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นซึ่งมีสัญญาเมื่อเรียนจบได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่ได้รับการบรรจุเป็นเพียงพนักงานของรัฐ ได้รับสิทธิคล้ายข้าราชการของรัฐในกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ แต่ไม่มีการนับอายุราชการ
จนถึงปี 2547 ครม.มีมติให้บรรจุพนักงานของรัฐในช่วงนั้นเป็นข้าราชการ แต่ไม่มีการนำระยะเวลาในช่วงเป็นพนักงานราชการมานับรวม ทำให้อายุราชการกว่า 3 ปี กับ 8 เดือนขาดหายไป ทำให้พวกตนขาดสิทธิของอายุราชการ ที่จะนำมานับรวมใช้คำนวณเป็นเงินตอบแทนในการรับเงินบำเหน็จและบำนาญช่วงเกษียณราชการ
อีกประเด็นคือ ความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือนของผู้บรรจุใหม่กับพวกตน ทำให้ปัจจุบันรุ่นน้องมีอัตราเงินเดือนมากกว่าพวกตนที่ทำงานมานานกว่า ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายเพื่อนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐใช้คำนวณบำเหน็จและบำนาญ คืนความเป็นธรรมให้อดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 24,321 คนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นด้วย
ทั้งนี้ นายวิจิตร เจียมวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด ได้รับหนังสือและรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีทราบ เพื่อจะได้ส่งต่อความต้องการของผู้เรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบต่อไป
วอนขอเป็นของขวัญปีใหม่จาก “บิ๊กตู่”
รายงานแจ้งว่าในวันเดียวกันนี้ ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหาร นางเกษรา ตะโสรัจน์ ตัวแทน อดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมายื่นหนังสื่อที่ศูนย์ดำรงธรรม กับนายขันชัย สีนอร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหาร
โดยนางเกษรา ตะโสรัจน์ กล่าวว่า จากนโยบายคุมกำเนิดข้าราชการของรัฐบาลในปี 2543 กระทบต่อกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้นต้องเลือกบรรจุเฉพาะในวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ ปล่อยลอยแพนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุขที่จบการศึกษาใน ปี 2543 จนเกิดปรากฏการณ์ม็อบคุณหนูในปีนั้น ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เห็นชอบให้มีการจ้างงานประเภทใหม่เรียกว่าพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกประเภทหนึ่ง รับเงินเดือนจากงบประมาณ หมวดเงินเดือน เช่น แพทย์ ค่าตอบแทนใช้บัญชีเงินเดือนพลเรือนโดยอนุโลม การเลื่อนเงินเดือน วันเวลาทำงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน วินัย การสิ้นสุดการจ้าง เหมือนข้าราชการทุกประการ แต่ไม่นับอายุราชการ
จนเมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติบรรจุและแต่งตั้งพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แต่ไม่ได้มีการนำระยะเวลาการปฏิบัติงานในช่วงเป็นพนักงานของรัฐ (ก่อนบรรจุ) มาคำนวณในสิทธิประโยชน์กองทุนบำเหน็จบำนาญแต่อย่างได ทั้งๆ ที่พนักงานของรัฐทุกท่าน ได้รับการปฎิบัติงานเหมือนข้าราชการพลเรือนสามัญทุกประการ
ความไม่เป็นธรรมครั้งที่ 2 เมื่อสำนักงาน ก.พ. และคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสิทธิ์ประโยชน์ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ กำหนดกฎเกณฑ์ฯ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1008.1/155 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 และการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับพนักงานราชและลูกจ้างชั่วคราว ที่ได้บรรจุเข้ารับราชการ ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตามหนังสือ ก.พ.ที่ นร 1012.2/250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบ ตามหนังสือที่ สธ 0208.09/18624 ลงวันที่ 5 กรกฏาคม 2560 ใน 2 ประเด็น คือ การได้รับเงินเดือนระหว่าง ข้าราชการปกติ พนักงานของรัฐ (พนร.) กลุ่มที่ได้รับการเยียวยาที่มีอายุงาน/อายุราชการใกล้เคียงกัน และตำแหน่งประเภทเดียวกัน เปรียบเทียบเงินเดือน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2559 พบว่า เงินเดือน ข้าราชการที่เยียวยา เงินเดือนมากว่าข้าราชการปกติ 6,100 บาท ข้าราชการที่ได้เยียวยา เงินเดือนมากกว่าพนักงานของรัฐ 7,800 บาท
จากการเปรียบเทียบกรณีอายุงาน และอายุราชการที่แตกต่างกัน แต่ได้รับเงินเดือนใกล้เคียงกัน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 พบว่า ข้าราชการปกติอายุราชการมากกว่าพนักงานของรัฐ 3 ปี 8 เดือน พนักงานของรัฐ อายุราชการมากกว่า ข้าราชการที่ได้เยียวยา 5 ปี
“จนมาถึงทุกวันนี้ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น กลับยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ทำลายระบบธรรมมาภิบาล และสร้างความแตกแยก ความไม่สามัคคีในองค์กรเป็นอย่างมาก” นางเกษรากล่าว