ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ตุ๊ก-ดวงตา ตุงคะมณี นำทัพดารารุ่นใหญ่ช่วยชาวบ้านบ้านกุดกอก ต.สระพังทอง สร้างฝายมีชีวิตกับชาวบ้านนับพันคน ที่บริเวณลำห้วยส้มป่อย โดยจัดเป็นกิจกรรมรวมน้ำใจจากดวงดาว สู่ชาวฝายถวายพ่อหลวง ต่อยอดโครงการเปลี่ยนภาระเป็นพลังฯ เดินหน้าสร้างฝายมีชีวิตเพิ่มอีก 900 แห่งภายในปี พ.ศ. 2561 น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ตามรอยเสด็จพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิกร อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
ที่บริเวณลำห้วยส้มป่อย บ้านกุดกอก หมู่ที่ 5 ต.สระพังทอง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ จุดสร้างฝายมีชีวิตลำดับที่ 542 ของประเทศ และลำดับที่ 80 ของจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมรวมน้ำใจจากดวงดาว สู่ชาวฝายถวายพ่อหลวง ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดโครงการผสานรวมพลังประชารัฐขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ สู่ความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นภาระเป็นพลัง 90 ฝายถวายในหลวง
นำโดยพระอาจารย์มหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านานคำ ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ ในฐานะปราชญ์พอเพียง และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาคุณธรรมชีวิต จ.กาฬสินธุ์ ครูฝายจาก 18 อำเภอ กว่า 500 คน เครือข่ายสมาชิกฝายมีชีวิตและชาวบ้านกว่า 1,000 คน ร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง
โดย “ตุ๊ก” ดวงตา ตุงคะมณี, ทัศวรรณ เสนีย์วงศ์, “แหม่ม” จินตหรา สุขพัฒน์, กอบสุข จารุจินดา, วิวัฒน์ ผสมทรัพย์, ณพสิทธิ์ เที่ยงธรรม, “ปู” ปริศนา กล่ำพินิจ และสุเชาว์ พงษ์วิไล ได้ร่วมพิธีตอกเสาเอก-เสาโท บริเวณหัวฝายมีชีวิตลำห้วยส้มป่อย พิธีขอขมาแม่พระคงคา และบวชต้นไม้ใหญ่ ก่อนจะลงแรงสร้างฝายร่วมกับชาวบ้าน
นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฝายมีชีวิตเกิดจากพลังของคนกาฬสินธุ์ ตื่นตัวลุกขึ้นมาอนุรักษ์สายน้ำและผืนป่า เพื่อสืบสานและตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ โดยยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่ยึดถือปฏิบัติมาช้านานสืบไว้ให้ลูกหลานได้เห็นและเป็นแนวทางให้ปฏิบัติตามครรลองที่ดีงาม
การสร้างฝายมีชีวิตของ จ.กาฬสินธุ์ ได้ดำเนินสู่ปีที่ 2 เป็นการพึ่งพาตนเอง หน่วยงานราชการเป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณในการอบรมครู
ส่วนการสร้างฝายเป็นการระดมพลังประชารัฐจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ ร้านค้า และชาวบ้าน ระดมทุน บริจาคสิ่งของสร้างฝายกันเอง จนครบ 90 ฝายในปีแรก ขณะที่ปีที่ 2 วางเป้าหมายไว้ที่ 900 ฝาย ทั้ง 18 อำเภอ โดยประชาชนชาวกาฬสินธุ์ทุกคนมุ่งหวังให้การสร้างฝายมีชีวิตบรรลุตามวัตถุประสงค์ น้อมนำหลักการทรงงานและพระราชดำรัส ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ให้ผืนป่าอยู่คู่กับน้ำ คืนสมดุลตามหลักธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังเป็นฝายที่แก้ปัญหาน้ำท่วมในยามน้ำหลาก และแก้แล้งได้จากการกักเก็บน้ำของฝายมีชีวิต
พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย ระบุว่า ป่าไม้และน้ำเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน การปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นให้เกิดพลังมาจากการที่ประชาชนได้พบเห็นและสัมผัสกับฝายมีชีวิตที่ทำได้จริง มีประโยชน์จริงๆ โดยเฉพาะความยั่งยืนของฝายที่จะอยู่ไปถึงลูกหลานด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านเอง นอกจากนี้ บทพิสูจน์จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งพายุตาลัสและเซินกา ชาวบ้านได้พบสิ่งมหัศจรรย์ด้วยตัวเองจากฝายมีชีวิตที่ยังมีสภาพคงทน แข็งแรง
แม้จะต้องมีการซ่อมแซมบ้างก็ไม่ได้ใช้งบประมาณมหาศาลอย่างที่ผ่านมา
จากบทเรียนสร้างฝายมีชีวิต 1 ปี 90 ฝายทำให้เกิดการบูรณาการด้านความคิดและวิธีปฏิบัติมากมายเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหูช้าง เหนียวปิ้ง บันไดนิเวศ ทุกสัดส่วนเกิดจากการระดมสรรพกำลังรอบด้านของชาวบ้านมาใช้จริงๆ ฉะนั้นในวันนี้ต้องระบุเลยว่า แม้ว่าฝายมีชีวิตจะเกิดจากแรงงานมนุษย์ ที่สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติทั้งไม้ไผ่ เชือกปอ กระสอบทราย และต้นไม้
แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้ว ฝายมีชีวิตนั้นได้สร้างคน สร้างพลังให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สลายความแตกแยกได้อย่างสิ้นเชิง
ขณะที่ฝายมีชีวิต จ.กาฬสินธุ์ ที่ก้าวสู่ปีที่ 2 ได้พลังจากหลายๆ ส่วน ทั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ศิลปิน ดารา นักแสดง ที่อุทิศตนมาร่วมงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ มาด้วยหัวใจ และร่วมลำบากกับชาวบ้าน
สำหรับอำเภอเขาวง เป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมเยือนประชาชน ในปี พ.ศ.2535 ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากลำบากของชาวบ้านเนื่องจากพื้นที่ในหุบเขาไม่มีแหล่งน้ำ ผลผลิตเมล็ดข้าวลีบแห้ง แม้ดึกดื่นเส้นทางทุรกันดารและมืดมิดเพียงใด พระองค์ยังทรงงานในพื้นที่ ทรงลอดรั้วลวดหนามในที่นาของชาวบ้านเพื่อหาแหล่งน้ำสร้างฝาย ทรงประทับในรถพระที่นั่งบนถนนดิสโก้
จนเกิดเป็นโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน บ้านแดนสามัคคี ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ จากพื้นที่แห้งแล้ง ทุรกันดารกลับกลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ เป็นแหล่งปลูกข้าวเขาวงที่มีชื่อเสียง กลางหุบเขาในเทือกเขาภูพานที่มีทัศนียภาพที่สวยงามตามวิถีธรรมชาติ