วิถีปฏิบัติบูชา ต่อยอดโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างมูลนิธิปิดทองหลังพระกับกรมชลประทาน มองเผินๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ตรงข้าม กลับเป็นเรื่องพิเศษ เพราะมุ่งให้เป็นปฏิบัติบูชา สนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ล่วงสู่แดนสรวงเป็นสำคัญ
จุดหมายปลายทางของพระราชดำริ คือการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเกษตรกรให้มีน้ำท่าบริบูรณ์ มีคุณภาพชีวิต และพึ่งพาตัวเองได้ สุดท้ายจะเป็นความมั่นคงของประเทศชาติ
ถ้าชนบทไทยมากกว่า 20 ล้านคนเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็งมั่นคงไปด้วย
ลำพังมูลนิธิปิดทองหลังพระก็ทำหน้าที่ปิดทอง ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงขอให้ปิดทองหลังพระบ้าง ไม่มุ่งเอาแต่ปิดทองหน้าพระกันหมด ต่อไปทองจะค่อยๆ งอกงามลามออกไปหาทองที่ปิดหน้าพระ ทำให้เป็นพระปฏิมาที่สมบูรณ์
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น แม้เป็นโครงการขนาดเล็ก แต่กรมชลประทานก็ไม่ได้โอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนโครงการขนาดเล็กทั่วไป เพราะถือเป็นโครงการสำคัญที่ต้องดูแลต่อเนื่อง
ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิปิดทองฯ กับกรมชลประทานก่อนนี้มีอยู่ระดับหนึ่ง ยิ่งเมื่อผูกมือแน่นแฟ้นจากที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งเป็นการทำงานเชิงรุกยิ่งขึ้น นอกจากบูรณาการอย่างจริงจังแล้ว มูลนิธิปิดทองฯ ยังบูรณาการกับส่วนราชการหน่วยอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักนายกรัฐมนตรี ยิ่งสามารถผนึกกำลังขับเคลื่อนหน่วยงานรัฐได้อย่างครบวงจรเลย เป็นกำลังสำคัญหนึ่งในการพัฒนา
ในส่วนของมูลนิธิปิดทองฯ ทำงานโดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ เป็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมๆ ที่เคยทำกันมา เป็นต้นว่า เกษตรกรต้องเข้าร่วมโครงการแต่ต้น ร่วมคิด ร่วมทำ เอาแรงเข้าช่วย งบประมาณก็ให้ อบต. หรือเทศบาล หรือ อบจ.จัดหามาร่วม มูลนิธิปิดทองฯ ก็ประสานความร่วมมือผ่านส่วนงานต่างๆ ที่บูรณาการกันอยู่แล้ว และขับเคลื่อนให้เป็นโครงการของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน เป็นลักษณะการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
จากที่เคยรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว ก็พึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง สามารถขยับตัวพัฒนาเองได้ และจะมั่นคงยั่งยืนได้ในที่สุด
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การร่วมกับมูลนิธิปิดทองฯ ช่วยเติมเต็มการพัฒนาพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม อีกทั้งเชี่ยวชาญในกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนอยู่แล้ว ในขณะกรมชลประทานก็อาศัยความเชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจพื้นที่ ออกแบบ และก่อสร้างโครงการ ซึ่งสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ เกิดประโยชน์ต่อชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่ได้อย่างดียิ่ง
กระบวนการที่จะขับเคลื่อนร่วมกันกับมูลนิธิปิดทองคือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ 1,317 โครงการ กับโครงการแหล่งน้ำชลประทานขนาดเล็กที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,086 โครงการ
หลังการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างกรมชลประทานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 แล้ว กรมชลประทานได้กำหนดเป้าหมายนำร่องในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ น่าน กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี อุทัยธานี เพชรบุรี ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เชียงราย แพร่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สกลนคร ศรีสะเกษ ตาก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ และพัทลุง
“โครงการเหล่านี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่เข้าไปบูรณะปรับปรุงเพิ่มเติมก็จะเพิ่มศักยภาพได้เท่าเดิมหรือมากกว่า เช่น หลายแห่งมีอ่างเก็บน้ำอยู่แล้ว แต่ไม่มีระบบส่งน้ำ หรือมีการชำรุดของอาคารชลประทานก็เข้าไปซ่อมแซมให้ใช้งานได้ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนไปได้เร็วมากและเกิดประโยชน์แก่ชุมชนเหล่านั้นตามมา” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีพระราชดำริแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมือทำร่วม 200 โครงการนั้น
กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อสนองพระราชดำริ และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเข้าไปดำเนินการเช่นเดียวกับที่มูลนิธิปิดทองฯ ทำอยู่ โดยใช้เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเข้าไปหารือร่วมกับชุมชนในพื้นที่โครงการ
“กรมชลประทานประกาศชัดแล้วว่า โครงการพระราชดำริของพระองค์ที่ยังเหลือค้างอยู่ เราจะสานต่อให้แล้วเสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้”
ที่สำคัญที่สุดคือใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเข้าไปหาประชาชนในพื้นที่ เป็นแสงสว่างที่เห็นอยู่รำไรเบื้องหน้า และเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ถือได้ว่าประเสริฐกว่าบูชาอย่างอื่น