น่าน - ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมผู้ว่าฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบ “โครงการปิดทองหลังพระฯ น่าน” ล้อมวง “กินข้าวเล่าเรื่อง” กับชาวบ้าน ซักถามแนวทางสร้างแรงระเบิดจากภายใน พร้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ปรับใช้ในพื้นที่
วันนี้ (20 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมด้วยนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะ พล.ต.วัลลภ ฐิติกุล ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 และคณะผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และนายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่ศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระฯ น่าน
โดยมีนายธนากร รัชตานนท์ ผู้จัดการสำนักงานโครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน พร้อมด้วยคณะทำงานให้การต้อนรับ และนำศึกษาดูงานในพื้นที่บ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ และพื้นที่แปลงเกษตรครอบคลุมพื้นที่ 14 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรกว่า 4,000 ไร่ ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาฝายน้ำริม บ้านพ่อ ต.แสนทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน
นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การได้ศึกษาดูงานโครงการปิดทองฯ พื้นที่ต้นแบบจังหวัดน่านถือเป็นประโยชน์อย่างมาก ได้เห็นองค์ความรู้ และกระบวนการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งความสำเร็จของชาวจังหวัดน่านเป็นการระเบิดจากภายใน
นายสุริยะบอกว่า หลังจากศึกษาดูงานครั้งนี้แล้วจะกลับไปประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิด เกิดรายได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจะใช้ “ศาสตร์พระราชา การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เป็นแนวทาง ซึ่งถึงแม้สภาพภูมิประเทศและวิถีชีวิต วัฒนธรรมจะแตกต่างกันกับทางภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ทางภาคใต้มีต้นทุนในเรื่องแหล่งน้ำ
“จากนี้จะนำองค์ความรู้ที่ได้นำไปแนะนำโดยใช้กระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์และลงมือทำ ทั้งด้านพืชและปศุสัตว์ แต่ต้องไปดูเรื่องสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ”
อย่างไรก็ตาม วิธีการนำศาสตร์พระราชาไปปรับใช้ในพื้นที่ภาคใต้ต้องใช้ระยะเวลา ใช้กระบวนการเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต้องสร้างครู ก. และ ครู ข. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้แน่นอน
บรรยากาศการศึกษาดูงานในรูปแบบของปิดทองหลังพระฯ เป็นไปด้วยความเรียบง่าย ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยทางทีมโครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่านได้จัดช่วง “กินข้าวเล่าเรื่อง” ให้คณะศึกษาดูงานได้รับประทานอาหารร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่บริเวณกลางแปลงของเกษตรกร พร้อมกับรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงาน มีการซักถามข้อมูล เพื่อใช้เวลาการศึกษาดูงานที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า โดยถือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คณะศึกษาดูงานได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ อันถือเป็นเอกลักษณ์ของการศึกษาดูงานโครงการปิดทองฯ น่าน