ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่วังน้ำเขียว โคราช แก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินที่มีแนวเขตทับซ้อนในพื้นที่ ส.ป.ก.-ป่าสงวนฯ และอุทยานฯ ทับลาน รวมกว่า 2.6 แสนไร่ โดยขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำการสำรวจแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน ปี 2543 เป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ชี้ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 เหตุ กม.ปกติมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว
วันนี้ (21 ก.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และตัวแทนจากอีกหลายหน่วยงาน ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินที่มีแนวเขตทับซ้อนในพื้นที่ของ ส.ป.ก. พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 อำเภอ ใน 2 จังหวัด ประกอบด้วย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวมพื้นที่ที่มีปัญหาจำนวนกว่า 260,000 ไร่ หลังการแก้ไขปัญหาดังกล่าวดำเนินการยืดเยื้อมานานหลายปี ที่หอประชุมอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ คณะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมร่วมกับตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้สรุปแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาออกเป็น 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขข้อมูลหรือแผนที่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ทำให้กฎหมายมีความถูกต้องชอบธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
2.ให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำการสำรวจแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 และแนวกันไฟเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของเขตพื้นที่ 3.ให้กรมป่าไม้รับข้อคิดเห็นกรณีการกำหนดพื้นที่เขาแผงม้าให้เป็นป่าโซนซีนั้นให้มีความถูกต้อง สอดคล้องต่อสภาพข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในอำเภอวังน้ำเขียว 4.ผู้ตรวจการแผ่นดินจะประสานงานกับอัยการสูงสุด ให้มีการชะลอดำเนินคดีต่อประชาชนที่ถูกฟ้องร้อง ในระหว่างการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาแนวเขตทับซ้อนของอุทยานแห่งชาติทับลาน กับเขตที่ดินของราษฎร
และ 5.ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะนัดหมายหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหานี้ เพราะอยู่ในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในระดับกระทรวง และจะเป็นบุคคลหนึ่งที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่าจะมีขั้นตอน และกรอบเวลาในการดำเนินการอย่างไร เพื่อจะได้แก้ไขปัญหากฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ถูกต้อง ทำให้รัฐกับประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นยั่งยืน
ส่วนกรอบระยะเวลาสำคัญ คือ ให้นัดหมายกับปลัดกระทรวงฯ ภายใน 30 วันนับจากวันนี้ ส่วนจะทำทันสมัย คสช. หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตี คงไม่ประสงค์ที่จะใช้อำนาจ ม.44 เพราะมีกลไกตามปกติมีคุณภาพประสิทธิภาพอยู่แล้ว
พล.อ.วิทวัส รชตะนันนท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้ง และได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2555 ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการนำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
และต่อมา ในปี 2559 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ข้อยุติทางกฎหมาย แต่จนถึงขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถนำแนวทางการปรับปรุงแก้ไขแนวเขตแผนที่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่มีการดำเนินการไว้ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับ และสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นธรรมมาดำเนินการ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับความเดือดร้อน และร้องเรียนปัญหาไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่างต่อเนื่อง
จากนั้นคณะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่มีปัญหาจำนวนทั้งหมด 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 บริเวณทางเข้าวัดบ้านไร่ 2 จุดที่ 2 บริเวณถนนระหว่างหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ และหมู่บ้านไทยสามัคคี จุดที่ 3 บริเวณที่มีการปักแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีการรังวัดเมื่อปี 2543 และจุดสุดท้าย บริเวณศาลาประชาคมหมู่บ้านไทยสามัคคี เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ด้วย