แพร่ - ชาวเมืองแพร่กว่า 400 ครัวเรือนกลายเป็น “คนตกสำรวจ” หลังประกาศเขต อบต.ปี 40 ทำพื้นที่อยู่อาศัย-ที่ทำกินเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” อปท.เดิมกลัว สตง.ไม่กล้าจัดงบพัฒนา ขณะที่ อปท.ใหม่ก็ไม่ยอมดูแล แถมกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ชัดเจนจนเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ-กู้เงินไม่ได้
ขณะนี้ปัญหาแนวเขตพื้นที่เขตปกครองระหว่าง ต.แม่จั๊วะ-ต.ปงป่าหวาย อ.เด่นชัย กับ ต.หัวฝาย ต.น้ำชำ อ.สูงเม่น จ.แพร่ กำลังบานปลายมากขึ้น เนื่องจากหลังประกาศเขต อบต.เมื่อปี 40 ทำให้พื้นที่ ต.น้ำชำไปอยู่ในเขต ต.แม่จั๊วะ 1,800 ไร่ อยู่ในเขต ต.ปงป่าหวาย 216 ไร่ รวม 2,016 ไร่ 400 กว่าครัวเรือน
นายวันชนะ จันดาขัด อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 97/1 หมู่ 11 ต.น้ำชำ อ.สูงเม่น จ.แพร่ กล่าวว่า เดิมพื้นที่ในเขตห้วยร่องผาเป็นของ ต.น้ำชำ แต่เมื่อปี 40 ประกาศเขต อบต.จนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่นี้ถูกกำหนดให้ไปอยู่ในเขต ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย ทำให้ถนนหนทางที่ อบต.น้ำชำเคยทำมาตลอดก่อนประกาศแนวเขตปกครองใหม่ พอถนนชำรุด อบต.น้ำชำก็เข้ามาดูแลไม่ได้ ทางแม่จั๊วะก็ไม่มาช่วยซ่อมแซม ขอก็ไม่ได้เพราะประชากรในบริเวณนี้ไม่มีเลขที่บ้าน ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อปท.ใน ต.แม่จั๊วะ ทำให้นักการเมืองไม่สนใจในการแก้ปัญหา
นายเจริญ สมปาน ส.จ.เขต อ.สูงเม่น กล่าวว่า พื้นที่ทับซ้อนทำให้มีปัญหาเรื่องการพัฒนาจาก อปท. คือ อบต.-เทศบาล ที่ไม่สามารถนำงบประมาณลงไปได้เนื่องจาก สตง.ตรวจเข้ม ทำให้พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่สามารถนำโครงการพัฒนาลงไปได้ เรียกว่าเป็นพื้นที่ตกสำรวจ ทำให้ขาดโอกาสในการได้สวัสดิการของรัฐ
“นอกจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องการถือครองที่ดิน การถ่ายโอน เรื่องของเอกสารสิทธิในการขอกู้เงินกับธนาคาร ล้วนเป็นปัญหาเพราะมีที่อยู่ไม่ชัดเจน”
ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาดังกล่าวชาวบ้านได้รวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าฯ แพร่ โดยมีนายดำรง สิริวิช อิ่มวิเศษ ปลัดจังหวัดแพร่ เข้าเจรจาและรับเรื่องเมื่อ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีทางแก้ 4 แนวทางคือ 1. ยืนยันตามเอกสารเก่าปี 2525 ภายใต้การยอมรับกันทั้ง 4 ตำบล 2. ถ้าไม่ยอมรับ จะต้องตั้งชาวบ้าน-ตัวแทน อปท.เป็นกรรมการเดินสำรวจแนวเขตใหม่ 3. ให้ทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ว่าจะไปอยู่อำเภอใด และ 4. ผู้เสียหายต้องเดินหน้าร้องศาลปกครอง
ต่อมานายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้มีคำสั่งให้ตัวแทน อปท.ในพื้นที่ทับซ้อน และตัวแทนชาวบ้านประชุมร่วมกัน ผลปรากฏว่าทั้ง 3 ตำบลยินยอมแก้ปัญหา แต่กำนัน ต.แม่จั๊วะไม่ยอมรับ ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาต่อได้
นั่นหมายถึงชาวบ้าน 400 กว่าครัวเรือนในพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมดยังต้องอยู่ในพื้นที่ “ตกสำรวจ” และยิ่งไปกว่านั้น หากปัญหาเรื้อรังต่อไป มีการตั้งบ้านเรือนใหม่มากขึ้น จะยิ่งมีปัญหาเกิดขึ้นทั้งการเมือง การปกครอง และการทำมาหากินตลอดจนคุณภาพชีวิตที่คนในเขตทับซ้อนดังกล่าว