xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์พิทักษ์ป่าเปิดกลยุทธ์ 3 เกาะติด 3 ปฏิบัติรักษาป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.อ.สุรศักดิ์-กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการบุกรุกป่าไม้ พื้นที่อุทยาน และทรัพยากรทางทะเล เป็นเรื่องใหญ่ที่หลายรัฐบาลดำเนินการมาแต่ก็ไม่เป็นรูปธรรมไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีนายทุน ผู้มีอิทธิพล เป็นตัวการใหญ่ของขบวนการ ทั้งในรูปแบบของการตัดไม้ต้องห้าม การแผ้วถางพื้นที่ป่า หรือแม้กระทั่งใช้ชาวบ้านเป็นเกราะป้องกันในการบุกรุกป่าชุมชนต่างๆ ทำให้เป็นป่าเสื่อมโทรมเพื่อเข้าไปยึดแล้วถือครองเพื่อทำประโยชน์ให้ตัวเอง โดยไม่สนใจความเสียหายที่เกิดกับประเทศ

1. ป่าอนุรักษ์เป็นป่าสมบูรณ์ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรมอุทยานฯ และอยู่ระหว่างกรมป่าไม้ส่งมอบให้ประมาณ 9 ล้านไร่ ซึ่งจะต้องป้องกันรักษาให้คงอยู่ รวมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 82 ล้านไร่ 2. ป่าชุมชน มีเนื้อที่ประมาณ 19 ล้านไร่ ปัจจุบันมีป่าชุมชนกว่า 9,000 หมู่บ้าน ซึ่งมีเป้าหมายจะจัดให้มีป่าชุมชนมากกว่า 21,000 หมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าได้ ลักษณะรัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน 3. ป่าเศรษฐกิจ จะมีการส่งเสริมการปลูกป่าทั้งภาคเอกชนและกลุ่มธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าได้เป็นอย่างมาก 4. ป่าในเมือง
 
เช่น สวนสาธารณะ หรือ สวนป่าประชารัฐเพื่อความสุขของคนไทย วนอุทยาน สถานีวนวัฒน์ สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุขชาติ ต้องทำเป็นศูนย์เรียนรู้ อาจจัดให้มีการศึกษาธรรมชาติ หรือเส้นทางปั่นจักรยาน แต่จะต้องให้คงพื้นที่ป่าไม้ไว้ และ 5. ป่าชายเลน ทั้งในป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย โดยที่พื้นที่ป่าอาจมีประชาชนอาศัยอยู่แต่มีความสัมพันธ์ของการอยู่ทำกินที่แตกต่างกันไปภายใต้ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

5 ป่าข้างต้น คือ ป่าเป้าหมายที่ทาง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องการให้มีอยู่แล้วยั่งยืนตลอดไป โดยให้เจ้าหน้าที่ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ต้องมีความจริงจังและหนักแน่น รวมถึงยึดกฎหมายเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาบุกรุกป่าของกลุ่มนายทุนและชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ตามแผนนโยบายรัฐบาล

ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ที่มีการระดมเจ้าหน้าที่ส่วนป้องกันและปราบปรามจาก 3 กรม คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาบุกรุกป่าที่มีมานาน ซึ่งได้ดำเนินการไว้ในหลายจังหวัดด้วยกันตามแนวทางของพล.อ.สุรศักดิ์ โดยมี นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.)

ศูนย์มีการดำเนินการในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี พื้นที่รอยต่อแพร่ - น่าน พื้นที่หมู่เกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา พื้นที่เกาะพะงัน เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ จ.เลย - เพชรบูรณ์ พื้นที่ จ.ภูเก็ต (ซิปไลน์) พื้นที่ปลูกยางพารา จ.เลย ตามกลยุทธ์การปฏิบัติงานแบบ 3 เกาะติด และ 3 ปฏิบัติของ พล.อ.สุรศักดิ์ คือ 1. เกาะติดพื้นที่ 2. เกาะติดประชาชน และ 3. เกาะติดขบวนการผู้กระทำผิด และ 1. ปฏิบัติทันทีเมื่ออยู่ในขีดความสามารถ 2. ปฏิบัติการร่วมกับส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 3. ปฏิบัติโดยใช้เครือข่ายของประชาชน

เป้าหมายคือกลุ่มนายทุน ผู้ที่มีอิทธิพลโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ยากไร้ไร้ที่ทำกินที่ทำกินก่อนคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 (17 มิ.ย. 2557) และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งทาง พล.อ.สุรศักดิ์ มีแนวคิดในการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าในระดับภาค ซึ่งมอบหมายให้แม่ทัพภาคที่ 1 - 4 เป็นประธานในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ขึ้นมาทั้ง 4 ภาค ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ยืนยันว่า จะใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายกับนายทุน ผู้มีอิทธิพล ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำกินในป่า เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2558 จากการตรวจสอบพบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ถึง 10,695,806 ไร่ และโดนบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราจำนวน 1,364,066 ไร่ โดยเฉพาะในจังหวัดเลยที่มีพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้รวม 2,355,618 ไร่ แต่ถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราจำนวน 482,304 ไร่ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย

ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้เล็งเห็นความสำคัญในปฏิบัติการเชิงรุกของการบังคับใช้กฎหมายกับพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน สามารถตรวจยึดพื้นที่ได้ประมาณ 130,000 ไร่ และในจำนวนนี้ได้ดำเนินการตัดฟันตามมาตรา 25 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นไร่ และมีเป้าหมายดำเนินการในปี 2560 ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นไร่ โดยในปี 2561 กรมป่าไม้มีเป้าหมายดำเนินการถึง 1.2 แสนไร่







กำลังโหลดความคิดเห็น