xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กรมป่าไม้–กรมอุทยานฯทวงคืนเกาะพงัน สุดแสบป่าสงวน7หมื่นไร่เหลือแค่ 2หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะให้ความสำคัญกับการรักษาผืนป่า โดยประกาศเป็นนโยบายหลักภายใต้ปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า”แต่ปัจจุบันยังคงมีการบุกรุกจากชาวบ้าน ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และนายทุนอย่างต่อเนื่อง ภาพข่าวที่ปรากฏจะมีทั้งภาคเหนือ อีสาน และใต้ ถ้าเป็นเขตท่องเที่ยวบรรดาผู้บุกรุกจะนิยมทำเป็นรีสอร์ตที่พัก แต่ถ้าห่างไกลนอกจากตัดไม้ทำลายป่าเพื่อประโยชน์แล้ว เมื่อจัดการจนเหมาะสมกับการเกษตร ก็จะใช้พื้นที่ทำไร่ข้าวโพด หรือปลูกต้นยาง เขาบางลูกที่เคยเป็นป่าทึบ กลับกลายเป็นเขาหัวโล้น ในเวลาไม่กี่ปี

ที่หนักหนากว่าใคร น่าจะเป็นพื้นที่ จ.น่าน นอกจากภูเขาหลายลูกถูกบุกรุกกลายเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้ว หลังการเก็บเกี่ยวจะนิยมเผาซังทำให้เกิดมลภาวะกลายเป็นควันพิษกระจายไปจังหวัดใกล้เคียง แต่ที่ร้ายที่สุดคือพื้นดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้ เมื่อเข้าฤดูฝนจะมีปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มตามมาอย่างไม่หยุดยั้ง

แม้ทางการจะให้ความสำคัญเป็นนโยบายระดับชาติ มีหน่วยงานสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากมาย อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นอกจากนั้นยังมีตำรวจ-ทหาร รวมทั้ง กอ.รมน. หรือกองอำนวยการความมั่นคงในราชอาณาจักร เข้ามาร่วมสนับสนุน แต่ไม่น่าเชื่อว่าขบวนการบุกรุก ทำลายป่ายังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

การบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเกาะพงัน อ.เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี คือปัญหาระดับประเทศอีกแห่งหนึ่งซึ่งตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐมีข้อมูลว่ามีการบุกรุกทำลายป่า และเข้าครอบครองอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก ข้อมูลเมื่อปี 2509 รัฐบาลประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ รวมพื้นที่ทั้งหมด 76,493 ไร่ ปัจจุบันเหลือเป็นป่าสงวนเพียง 20,000 ไร่เศษ !!??

หายไปกว่า 5 หมื่นไร่...หายไปไหน...หายไปได้อย่างไร

คำถามนี้กำลังถูกคลี่คลายโดยการเอาจริงเอาจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลฯ โดย 3 ชุดเฉพาะกิจที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่อย่างบูรณาการ

คำตอบคือมีการบุกรุก แพ้วถางป่าเขาลำเนาไพรบริเวณป่าสงวนแห่งชาติเกาะพงัน มากันนานมากแล้ว...วิธีการรุกป่าของขบวนการภาคใต้ จะใช้ต้นมะพร้าว กับต้นยางเป็นหลัก มีการลักลอบเข้าไปปลูกทิ้งจากรุ่นต่อรุ่น โดยไม่ทำกินเป็นเรื่องเป็นราวกระทั่งเวลาผ่านไป 20 -30 ปี จึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ออกเอกสารสิทธิ์

แน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์ไม่เพียงชาวบ้าน แต่ยังมีนักการเมืองพื้นที่ ข้าราชการทั้งฝ่ายปกครอง อื่นๆ นายทุน หรือกระทั่งนักการเมืองระดับประเทศเมื่อระบบราชการอ่อนแอ โอกาสจึงเป็นของขบวนการเหล่านี้

ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าเกาะพงัน แม้สังคมส่วนใหญ่จะยังไม่ทราบ หรืออาจเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่น่าสนใจ แต่เมื่อเห็นตัวเลขที่รัฐบาลต้องเรียกตรวจสอบซึ่งมีมากหลายหมื่นไร่ รวมทั้งมีบรรดาขาเล็ก-ขาใหญ่ ทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและระดับประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องถือว่าเป็นงานช้าง ท้าทายเก้าอี้ท้ายทายตำแหน่งกันทีเดียว

สัญญาณแรงๆของภาครัฐคือ การสั่งย้ายบิ๊กหัวหน้าอุทยาน คนหนึ่งของเกาะพงัน หลังจากที่ตรวจสอบพบว่ามีความบกพร่อง หรืออาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่โดยมีข้อมูลคร่าวๆ ว่าเมื่อปี 2540 เกิดปัญหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเกาะพงัน กันอย่างกว้างขวางแต่เนื่องจากนโยบายขณะนั้นใช้หลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ กรมป่าไม้ในขณะนั้นจึงทำบันทึกตกลงกับชาวบ้านเพื่อไม่ให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่ต่อไป

แต่ดูเหมือนว่าการถ้อยทีถ้อยอาศัยจะไม่สามารถหยุดยั้งอิทธิพลในพื้นที่ได้ การบุกรุกและยื่นขอให้ราชการออกเอกสารสิทธิ์ยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ จนผืนป่าค่อยๆ หดลงๆจาก 7 หมื่นกว่าไร่ เหลือเพียง 2 หมื่นไร่เศษ ซึ่งถือว่าวิกฤติยิ่งกว่าวิกฤติ

ที่สุดแล้วกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีฯ ตัดสินใจย้ายด่วนข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนร่วมรู้เห็น หรือบกพร่องในหน้าที่ เนื่องจากเอกสารบันทึกข้อตกลงระหว่างชาวบ้านกับทางราชการที่เคยทำไว้ถูกอ้างว่าทำหายสาปสูญไป ก่อนนัดกับ นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมชุดเฉพาะกิจพญาเสือ –พยัคฆ์ไพร รวมทั้ง ผอ.ศป.กอ.รมน. ลงพื้นที่ด้วยตนเองเพื่อเตรียมปฏิบัติการขุดรากถอนโคนครั้งใหญ่ เร็วๆนี้

ปฏิบัติการทวงคืนปืนป่ากว่า 5 หมื่นไร่ บนเกาะพงัน จึงเป็นเรื่องท้าทาย มีความสำคัญ ข้อมูลต่างๆถูกรวบรวมไว้ทั้งหมดและส่งต่อไปยัง พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตัดสินใจเดินหน้าครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ในห้วงเวลา 3 ปีของ คสช.


กำลังโหลดความคิดเห็น