xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจ่อเดินสายร้องเอาผิด อธิบดีกรมอุทยานฯ บกพร่องประกาศพื้นที่ป่าทับที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร บ.สวนอุทยานทองผาภูมิ เตรียมเดินสายร้อง คสช. ป.ป.ช. ป.ป.ท. จี้เอาผิดอธิบดีกรมอุทยานฯ ม.157 บกพร่องประกาศพื้นที่ป่าทับที่เอกชน พร้อมยกคำวินิจฉัย กฤษฎีกา - กรมบัญชีกลาง - กรมป่าไม้ - ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุชัด จนท. รัฐผิด ใช้สิทธิรัฐโดยไม่สุจริต ควรเยียวยาเอกชน พร้อมค้านนโยบายชวนปลูกป่า

วันนี้ (16 ก.ค.) น.ส.เมรี รัตนราชชาติกุล ผู้บริหารบริษัท สวนอุทยานทองผาภูมิ จำกัด เปิดเผยว่า เตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนการประพฤติผิดมิชอบของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต่อเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการป้องกันการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เนื่องจากปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงขอให้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิด เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 6

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับอนุญาตปลูกป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อเดือน ก.ย. 2529 เพื่อปลูกสร้างสวนป่าเนื้อที่ 702 ไร่ และเพื่อจัดตั้งวนอุทยานเนื้อที่ 401 ไร่ รวมเนื้อที่ 1,104 ไร่ ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นเวลา 15 ปี โดยรัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายส่งเสริมเอกชนปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่ต่อมาปี 2534 กรมอุทยานฯ ประกาศเขตอุทยาน ทับพื้นที่บริษัทฯ และปฏิเสธจ่ายค่าชดเชยอันเป็นธรรมที่บริษัทฯควรได้จากการลงทุนปลูกสวนป่าไม้สัก

ต่อมาในปี 2548 อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในสมัยนั้น ได้ยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ไม่ทำการบินสำรวจและเดินสำรวจทางพื้นดินในพื้นที่จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งใหม่ จึงมีหนังสือเห็นควรให้ความเป็นธรรมและเยียวยาต่อบริษัทฯ แต่กรมอุทยานฯ กลับนิ่งเฉย และ ต่อมาปี 2549 บริษัทฯ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมจากความเสียหายที่เกิดขึ้น จำนวน 116 ล้านบาท จากมูลค่าไม้สักนับแสนต้น กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าเป็นความบกพร่องของทางราชการ เนื่องจากเอาผลประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ที่บริษัทฯ ได้ลงทุนไปเป็นของรัฐ โดยไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

น.ส.เมรี กล่าวว่า ได้รวบรวมหลักฐานคำวินิจฉัย อาทิ สำนักงานกฤษฎีกา กรมป่าไม้ กรมบัญชีกลาง และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่า เป็นความบกพร่องของกรมอุทยานฯ ควรจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ โดยยึดหลักจำนวนเงินที่บริษัทฯได้ลงทุนรวมกับค่าธรรมเนียมที่ชำระให้แก่รัฐ คิดคำนวณดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ตั้งแต่มีการลงทุนและจ่ายค่าธรรมเนียมจนปัจจุบัน ขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 26 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสาเหตุที่ออกมาร้องเรียน เพราะต้องการเป็นกรณีศึกษาถึงความผิดพลาดบกพร่องของกรมอุทยานฯ ต่อการดำเนินนโยบายปลูกป่า จึงออกมาคัดค้านนโยบายล่าสุดของภาครัฐที่จะเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมปลูกป่าไม้สักในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ดังนั้น จึงอยากขอความเป็นธรรมจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตภาครัฐ เพื่อให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น