xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.เผย ยึดคืนพื้นที่รุกป่าปลูกยางพารา 5 แสนไร่เศษ ตาม “แผนพลิกฟื้นผืนป่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.อ.พีรวัชฌ์  แสงทอง โฆษก กอ.รมน. (แฟ้มภาพ)
โฆษก กอ.รมน. เผย การดำเนินการนายทุน - มาเฟีย บุกรุกป่าปลูกยางพารา ยึดคืนแล้วได้ 5 แสนไร่เศษ ตาม “แผนพลิกฟื้นผืนป่า” จาก 102 ล้านไร่ เป็น 128 ล้านไร่ ใน 10 ปี

วันนี้ (2 ก.ค.) พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า จากแผนพลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จากเดิมมีผืนป่าประมาณ 102 ล้านไร่ จะพลิกฟื้นผืนป่าให้เป็น 128 ล้านไร่ ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งในปัจจุบันสามารถยึดคืนผืนป่าได้ 5 แสนไร่เศษ และที่อยู่ในระหว่างดำเนินคดีอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบพบว่า มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้ถูกบุกรุกปลูกยางพาราเป็นจำนวนมากถึง 3.09 ล้านไร่ แยกเป็น ภาคเหนือ จำนวน 367,300 ไร่, ภาคกลาง จำนวน 469,300 ไร่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 715,300 ไร่ และ ภาคใต้ จำนวน 1,547,500 ไร่

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กอ.รมน.จังหวัด, กองกำลังรักษาความสงบจังหวัด, ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการร่วมกันปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และเพื่อการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มนายทุนที่บุกรุกผืนป่าปลูกยางพารา โดยจะมุ่งเน้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งได้กำหนดลักษณะพื้นที่เป้าหมายและวิธีดำเนินการ ดังนี้

- เจ้าของสวนยางพาราเป็นของนายทุน, กลุ่มทุน หรือผู้มีอิทธิพล
- เป็นพื้นที่ครอบครองโดยผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และไม่อยู่ในเงื่อนไขการผ่อนผันให้ครอบครอง
- เป็นพื้นที่บุกรุกหลังปี พ.ศ. 2545 (มติ ครม. 30 มิ.ย. 41) หรือเป็นพื้นที่ถูกบุกรุกก่อนและเปลี่ยนมือผู้ถือครอง
- เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
- เป็นพื้นที่ที่ดำเนินคดีไปแล้ว แต่มีการกระทำผิดซ้ำ หรือเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง

ลักษณะของนายทุน, กลุ่มทุน หรือผู้มีอิทธิพล มีข้อพิจารณา ได้แก่ พื้นที่บุกรุกตั้งแต่ 25 ไร่ขึ้นไป, พื้นที่บุกรุกน้อยกว่า 25 ไร่ แต่มีรูปแบบการดำเนินการในลักษณะกลุ่มทุนจากต่างถิ่น, เป็นเจ้าของพื้นที่บุกรุกจำนวนหลายแปลง, เป็นนายทุนต่างถิ่นที่มาจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือคนท้องถิ่นให้ดำเนินการแทน, เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และมีการจัดการที่มีการลงทุนสูงเชิงธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ หรือผู้นำท้องถิ่นยืนยันว่าเจ้าของเป็นคนต่างถิ่นและไม่ใช่ผู้ยากไร้

กอ.รมน. จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และขอความร่วมแรงร่วมใจจากคนไทยทุกคน ในการร่วมกันอนุรักษ์ ดูแล รักษาป่า และอย่าได้ตกเป็นเครื่องมือหรือกลไกของกลุ่มนายทุนในการบุกรุกผืนป่า

ขอให้ทุกคนผนึกกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหา ร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่า เพื่อไม่ให้พื้นที่ป่า 102 ล้านไร่ ที่เหลืออยู่นี้ กลายเป็น “ป่าผืนสุดท้าย” และค่อยๆ หดหายไปจนไม่เหลือแม้ต้นไม้สักต้นเดียว

ทั้งนี้ การยึดพื้นที่บุกรุกป่า และมีการปลูกต้นไม้ยางพาราในพื้นที่บุกรุก จะเรียกต้นไม้เหล่านี้ว่า “พืชอาสิน” เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์รายได้อันเกิดจากต้นผลไม้ ซึ่งจะเป็นการทำความผิดซ้ำอีก จึงมีแนวทางการตัดฟัน และบริหารจัดการพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพารา ดังนี้

- ต้นยางพาราที่มีอายุน้อยกว่า 4 ปี จะตัดฟันออกทั้งหมด แล้วเร่งปลูกป่าทดแทนตามหลักวิชาการ

- ต้นยางพาราที่มีอายุ 4 - 20 ปี
1. ตัดต้นยางพาราออก 60% เหลือไว้ 40% (โดยตัด 3 แถวเว้น 2 แถว) หรือพิจารณาตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่ตามหลักวิชาการ
2. สำหรับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การตัดให้พิจารณาตามความเหมาะสมของลักษณะภูมิประเทศและขนาดของพื้นที่ตามหลักวิชาการ
3. ในพื้นที่ที่ตัดออก ให้ดำเนินการปลูกไม้ป่าท้องถิ่นทดแทน
4. ต้นยางพาราที่เหลืออยู่ 40% ให้คงไว้ในพื้นที่ และทำการปลูกไม้ป่าท้องถิ่นเสริมเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์

- ต้นยางพาราที่มีอายุ ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ให้คงไว้ในพื้นที่ตามเดิม (ไม่ดำเนินการตัดฟัน) และปลูกต้นไม้ป่าท้องถิ่นเสริมเพื่อให้พื้นที่ฟื้นคืนสู่สภาพป่าธรรมชาติตามหลักวิชาการ จาก 102 ล้านไร่เป็น 128 ล้านไร่ ใน 10 ปี ยึดคืนแล้วได้ 5 แสนไร่เศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น