xs
xsm
sm
md
lg

แผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย นครศรีฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย นครศรีธรรมราช เตรียมนำเสนอกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะสม เผยเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งแรกที่ชาวบ้านร่วมคิดร่วมทำตลอดระยะเวลา 3 ปี (2558-2560) เผยมีทั้งเขื่อน ประตูระบายน้ำตามที่ชาวคลองกลายศึกษา ลุ่มน้ำคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช ไม่ต่างจากลุ่มน้ำอื่นในประเทศไทย ตรงที่พื้นที่ลุ่มน้ำประสบปัญหาแล้งซ้ำซาก และท่วมซ้ำซาก อันเนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรและขยายพื้นที่ทำกินจากพื้นที่ราบริมน้ำขยายขึ้นไปบนที่สูง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารตามธรรมชาติ

ขณะที่ผืนป่าที่เป็นต้นน้ำได้รับผลกระทบ ทั้งการบุกรุกโค่นป่าปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา และไม้ผล มีการแย่งกันสูบน้ำในคลองกลายในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่สวนทุเรียน ส่วนฤดูฝนน้ำจะหลากชะล้างผิวดินไหลลงมาตกตะกอนในลำน้ำ ทำให้ตื้นเขินและเปลี่ยนทิศทางไหล ชะล้างสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ริมฝั่งคลองกลายที่มีความยาว 70 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ของ 2 อำเภอ ประกอบด้วย ต.นบพิตำ ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ กับ ต.ตลิ่งชัน ต.กลาย และ ต.สระแก้ว ของอ.ท่าศาลา

ขณะเดียวกัน เมื่อน้ำฤดูแล้งในคลองกลายน้อยลงมาก ก็เป็นโอกาสให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่น้ำจืด 18 กิโลเมตร เป็นอันตรายต่อการเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง

กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักบริหารโครงการและสำนักงานชลประทานที่ 15 จึงตัดสินใจบูรณาการการทำงานร่วมกัน และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อน ซึ่งหมายถึงประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการศึกษาและวางแผนตั้งแต่ปี 2558-2560 ซึ่งขณะนี้กำลังสรุปแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย เพื่อเสนอต่อสำนักบริหารโครงการพิจารณาดำเนินการต่อไป

“แผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย เป็นการคิดเอง ศึกษาเอง ตรวจสอบเองของชาวบ้าน โดยกรมชลประทานมีหน้าที่เป็นผู้ประสานเท่านั้น นับเป็นแผนพัฒนาลุ่มน้ำแห่งแรกที่ดำเนินการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นจนจบออกมาเป็นแผนพัฒนาสำเร็จรูปโดยฝีมือและความคิดของชาวบ้านลุ่มน้ำคลองกลายเอง”

ทั้งนี้ สำนักบริหารโครงการก็จะพิจารณาความเหมาะสมว่าจะดำเนินการพัฒนาลุ่มน้ำนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งจากการที่สำนักบริหารโครงการเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการโครงการนี้มาแต่ต้น จึงสามารถบรรจุเป็นแผนพัฒนาลุ่มน้ำได้เลย

“จะพิจารณาไปตามแผนพัฒนาที่ชาวบ้านร่วมกันศึกษา เช่น ข้อเสนอก่อสร้างประตูระบายน้ำ ตำบลตลิ่งชัน เพื่อยกระดับน้ำใต้ดินสำหรับไม้ผลแทนการใช้น้ำบาดาลอย่างเดียว ซึ่งบางแห่งขุดลึกถึง 100 เมตร และประตูระบายน้ำบริเวณ ตำบลกลาย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ริมทะเล เพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในคลองพิตำที่เป็นสาขาหนึ่งของคลองกลาย และ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่ชาวบ้านคิดอ่านและร่วมกันตัดสินใจ ไม่ใช่กรมชลประทานไปกำหนดเอาเอง”

นายสุจินต์ยอมรับว่า แรกๆ เข้าไปดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนได้รับการต่อต้านไม่น้อย แต่เมื่อทำความเข้าใจและพิสูจน์โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ทำให้ชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือมากขึ้น จนสามารถจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำกลายขึ้นมาได้ ซึ่งต่อไปจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาน้ำที่ชาวบ้านเผชิญมานานหลายสิบปี ทั้งสภาพน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเค็ม

ทั้งนี้ จากการประมาณการความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านศึกษาเองพบว่า ในปี 2559 มีความต้องการใช้น้ำใน 5 ตำบล ประมาณ 190 ล้านลูกบาศก์เมตร 10 ปีต่อไป หรือปี 2569 มีความต้องการ ประมาณ 255 ล้านลูกบาศก์เมตร ปี 2579 ความต้องการเพิ่มเป็น 289 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็น 316 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2589 หรือระยะ 30 ปี ในขณะที่ฝนเฉลี่ยต่อปีค่อนข้างมากถึง 1,880 มิลลิเมตร คิดเป็นประมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ยของลุ่มน้ำคลองกลายอยู่ที่ 645 ล้านลูกบาศก์เมตรที่ไหลทิ้งลงทะเล

“เปรียบเทียบกับปัจจุบันมีแหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่ตาม ฝาย แก้มลิง สระเก็บน้ำ หอ ถังประปา ฯลฯ ปีละ 2 แสนลูกบาศก์เมตร ห่างกันลิบลับกับปริมาณความต้องการ จึงไม่แปลกที่ความเดือดร้อนจะขยายตัวมากขึ้น และถึงแม้จะขุดน้ำใต้ดินมาใช้ก็เสี่ยงต่อผลกระทบมากขึ้น อย่างที่รู้บ่อบาดาลบางแห่งต้องขุดลึกมากถึง 100 เมตร นี่เป็นโจทย์ที่ชาวบ้านพยายามศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น