เชียงราย - เกษตรกรคนเลี้ยงปลาเชียงรายแห่ปลูกหญ้าเนเปียร์ฯ ตัด-บดผสมเลี้ยงปลาแทนหัวอาหาร แถมใช้ทำ “ขนมชั้น” แก้น้ำเน่า-เพิ่มไรแดง ต้นทุนต่ำลงกว่า 4 เท่าตัว ได้ปลาเหมือนปลาธรรมชาติ ขายดี กำไรงาม ธุรกิจฟื้นทันตา
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในเชียงรายที่มีมากถึง 14,097 ราย ส่วนใหญ่เริ่มหันมาปลูกหญ้าแล้วนำไปบดเลี้ยงปลาเพื่อลดต้นทุนแทนการซื้ออาหารปลาตามท้องตลาด ขณะที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ก็มีการจัดสรรงบประมาณผ่านจังหวัดฯ และสำนักงานประมงจังหวัดฯ เข้าไปส่งเสริมการปลูกและต่อยอดในด้านต่างๆ ด้วย
นายอมร พุทธสัมมา ประมง จ.เชียงราย กล่าวว่า หญ้าที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงปลาดังกล่าวคือ “หญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1” ซึ่งตนได้คิดสูตรเพื่อให้นำมาเลี้ยงปลาได้ ด้วยสูตร 6:4:1 คือ หญ้า 6 ส่วน รำข้าว 4 ส่วน และหัวอาหาร 1 ส่วน เมื่อนำมาบดผสมกันเป็นอาหารพบว่าปลากินดีมาก และช่วยลดต้นทุนค่าซื้ออาหารเลี้ยงปลาที่วางจำหน่ายในตลาดทั่วไปในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 26 บาท แต่ถ้าเลี้ยงด้วยหญ้านี้จะเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ยังสามารถนำหญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 มาวางในบ่อปลาเป็นชั้นๆ เรียกกันจนคุ้นเคยว่า “ขนมชั้น” โดยใช้หญ้า 80 กิโลกรัม 3 ชั้น และมูลวัว 40 กิโลกรัม 2 ชั้น ใส่สลับกันไปในคอกไม้ไผ่ขนาด 2 คูณ 4 เมตร ใช้ไร่ละ 1 คอก ก็จะทำให้ปลาสามารถกินเป็นอาหารได้ตลอดทั้งวัน ทั้งยังทำให้เกิดไรแดง และหนอนแดง ที่เรียกกุ้ง-หอยในบ่อปลาเพิ่มเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้นอกเหนือจากขายปลาอย่างเดียวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
“ผลพลอยได้จากการให้อาหารด้วยหญ้า และทำคอกหญ้าดังกล่าว นอกเหนือจากการขายสัตว์น้ำคือทำให้น้ำไม่เน่าเสีย แตกต่างจากการให้อาหารปลาทั่วไปที่มักประสบปัญหาน้ำเน่า โดยน้ำที่เลี้ยงด้วยหญ้าจะมีสีเขียวอ่อนๆ ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ปลาที่ได้ยังเหมือนปลาธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นเหม็น เมื่อนำมาปรุงอาหารก็ไม่มีกลิ่นแตกต่างจากปลาเลี้ยงทั่วไปอีกด้วย” นายอมรกล่าว
นายจำเริญ ปันดอน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โยนก อ.เชียงแสน-ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาด้วยหญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 กล่าวว่า ต.โยนก มีอยู่ 8 หมู่บ้าน ประชากร 4,900 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงปลานิลขาย แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านมีต้นทุนค่าอาหารสูง เมื่อรวมกับต้นทุนอื่นๆ ก็แทบไม่ได้อะไรเลย จนเอาตัวแทบไม่รอด
แต่เมื่อหันมาใช้หญ้าเนเปียร์ฯ เป็นอาหารปลา และได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ในการจัดซื้อเครื่องโม่ และผสมหญ้าตามสูตร 6:4:1 ณ สถานที่สาธารณะบ้านทุ่งฟ้าฮ่าม ต.โยนก ทำให้ชาวบ้านนำหญ้าที่ปลูกไปทำเป็นอาหารสัตว์กันทุกวันสามารถลดต้นทุนได้มาก
“ถ้าไม่มีโครงการนี้คงแย่หนัก เพราะปัจจุบันปลานิลราคาตกต่ำ แต่เมื่อต้นทุนต่ำตาม เราก็อยู่ได้ นอกจากนี้หญ้าที่ใช้ปลูกเลี้ยงปลายังปลูกง่าย เพียง 30-45 วันก็สามารถตัดมาใช้ได้ และปลูกแค่ครั้งเดียวยังออกหน่อให้เก็บได้นานถึง 7 ปีด้วย”
ด้านนายสุรชัย วตะผาบ เจ้าของ “วังปลาคาร์ป” บ้านปงอ้อ ต.แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการเลี้ยงปลาคือ ต้นทุน ซึ่งตนเลี้ยงทั้งปลานิล ปลาดุก ปลาคาร์ป ฯลฯ และจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาด้วย เดิมต้องซื้ออาหารแพงมากกระสอบละกว่า 500 บาท ซื้อครั้งละ 10 กระสอบ ก็ใช้ทุนมากถึง 5,000 บาท จนเกือบอยู่ไม่ได้แล้ว
“ตอนนี้ดีใจมากที่สำนักงานประมงจังหวัดฯ ส่งเสริมการใช้หญ้ามาเลี้ยงปลา เพราะทำให้ต้นทุนลดลงกว่า 70-80% และยังได้ปลาคุณภาพดี น้ำก็ไม่เสียทำให้อยู่รอดได้”
นายคะนอง จิตวนา เจ้าของบ่อรุ่งโรจน์ฟาร์ม บ้านห้วยน้ำราก ต.จันจว้า อ.แม่จัน กล่าวว่า ตนเลี้ยงปลาบนเนื้อที่กว่า 23 ไร่ และมีหลายบ่อ ทำให้ต้องใช้อาหารปลาวันละประมาณ 20 กระสอบ หรือประมาณ 500 กิโลกรัม ซึ่งต้นทุนในอดีตแทบไม่ต้องพูดถึง สูงจนทำให้เกือบเลิกกิจการไปแล้วเพราะต้นทุนสูงเกินรายรับ
“ครั้งหนึ่งเคยคำนวณว่าใช้ต้นทุนไปประมาณ 400,000 บาท กว่า 80% คือค่าอาหาร และเมื่อนำปลาขึ้นมาขายแล้วก็ต้องขาดทุนไปกว่า 150,000 บาท โชคดีที่ทางสำนักงานประมงจังหวัดฯ แนะนำเรื่องการใช้หญ้าเลี้ยงปลา ผมจึงประสานกับกลุ่มเลี้ยงโค ขอซื้อหญ้าของเขามาปั่น-ผสมทำเป็นอาหารเอง ตอนนี้ก็เริ่มปลูกหญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 ตามบริเวณใกล้เคียงกับบ่อปลาแล้ว ทำให้ต้นทุนลดลง และสามารถอยู่ได้แล้ว”
นางบัวลื่น โพธิชัยเลิศ ประธานกลุ่มแปรรูปปลาที่เลี้ยงด้วยหญ้าเนเปียร์ ต.โยนก อ.เชียงแสน กล่าวว่า เดิมกลุ่มฯ นำปลาจากหลากหลายที่มาปรุงเป็นอาหารจำหน่าย และส่งขายในตลาดเชียงแสน รวมถึงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว ซึ่งตามปกติปลาเลี้ยงก็จะมีกลิ่นเป็นธรรมดา แต่เมื่อนำปลาที่เลี้ยงด้วยหญ้าเนเปียร์มาปรุงอาหารกลับไม่มีกลิ่น และอร่อยเหมือนปลาธรรมชาติ ทางกลุ่มฯ จึงเร่งพัฒนาเครือข่าย เพื่อนำปลาจากแหล่งที่เลี้ยงด้วยหญ้าเนเปียร์มาใช้ในกิจการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกัน 14,097 ราย เนื้อที่รวมกัน 15,092 ไร่ ส่วนใหญ่เลี้ยงปลานิล 9,503 ราย ปลาดุก 2,106 ราย เลี้ยงกันมากในเขต อ.เชียงแสน อ.พาน โดยเฉพาะ อ.พาน มีผู้เลี้ยง 1,063 ราย เนื้อที่เลี้ยง 2,377.92 ไร่ อ.เชียงแสน 745 ราย เนื้อที่ 2,490.76 ไร่ ฯลฯ