สระแก้ว - กรมศิลปากร รื้อสิ่งปลูกสร้างหน้าปราสาทเขาโล้น เตรียมบูรณะร่วมกับปราสาทสด๊กก๊อกธม พร้อมเร่งทวงคืนทับหลังปราสาทเขาโล้น
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี พร้อมด้วย นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา ผู้นำชุมชน และชาวบ้านเจริญสุข กว่า 50 คน ได้เดินทางไปที่ปราสาทเขาโล้น โดยได้ช่วยกันทำการรื้อสิ่งปลูกสร้างที่ชาวบ้านได้ต่อเติมเป็นเพิงขึ้นมาเอง บริเวณหน้าองค์ปราสาทออกทั้งหมด รวมทั้งพระพุทธรูป ได้นำมาเก็บไว้ที่วัดปราสาทเขาโล้น ซึ่งก่อการรื้อถอนได้ทำการจุดธูปอธิษฐานขอขมาเจ้าที่เจ้าทางก่อนด้วย
นายเมธาดล กล่าวว่า ปราสาทเขาโล้น สร้างในช่วงศตวรรษที่ 16 อายุราว 900 ปี ก่อนปราสาทสด๊อกก๊อกธม เล็กน้อย ด้านนอกมีบารายใหญ่ ซึ่งตามแผนนอกจากบูรณะให้สมบูรณ์แบบเหมือนในอดีต ยังต้องปรับภูมิทัศน์ โดยทำถนนเข้ามาที่ปราสาท ระยะทาง 2 กิโลเมตร ทำลานจอดรถ ห้องน้ำ ห้องสุขา ร้านค้า รวมทั้งจะได้ประสานชาวบ้านเพื่อดูแลร่วมกัน คาดว่าสัปดาห์หน้าภายหลังรื้อถอนเสร็จจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมขุดแต่งตามแบบทางวิชาการเพื่อเปิดฐาน ลึกลงไปประมาณ 1 เมตร เปิดให้ถึงชั้นเดิม
“อาจจะเจอปราสาทอีกสัก 2 หลัง ทั้งหมด มี 3 หลังด้วยกัน เป็นศิลปะสมัยลพบุรี ถ้าเราขุดแต่งทั้งหมดจะเห็นภาพรวม จะพบเครื่องประดับต่างๆ วงกบ หินทราย ประตู ฐานรูปเคารพ ทั้งหมดจะนำมาออกแบบบูรณะเหมือนปราสาทสด๊อกก๊อกธม จากก้อนหินที่ปรักหักพังก็มาเป็นปราสาท ส่วนที่หายไป ยังบอกไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง เราต้องทำผังก่อน ซึ่งหลังทำแบบบูรณะแล้วก็จะเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญช่วยกันดูอีกครั้ง” นายเมธาดล กล่าว
เบื้องต้น ทางอธิบดีกรมศิลปากร ให้งบประมาณ 700,000 บาท เพื่อรื้อเพิงด้านหน้า และทำแบบบูรณะ ถ้าทำเต็มรูปแบบจะใช้งบประมาณเท่าไรนั้นจะมีการนำเสนอเพื่อของบประมาณเร่งด่วน คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ก็แล้วเสร็จ ซึ่งปีสุดท้ายจะเป็นการก่อสร้างสิ่งอำนวยสะดวก เช่น ห้องน้ำ ลานจอดรถ และมีบารายขนาดใหญ่อยู่ด้านทิศตะวันออกจะฟื้นฟูให้เป็นแหล่งน้ำต่อไป
ด้าน นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา กล่าวว่า ขณะนี้ทางชาวบ้านยินดีให้ความร่วมมือทุกอย่าง ต้องการมีการพัฒนาให้เป็นแบบรูปลักษณ์ดังเดิมได้ ชาวบ้านพร้อมแล้วที่จะให้ความร่วมมือ ซึ่งสิ่้งที่ชาวบ้านต้องการขอให้ดำเนินการ คือ การทวงคืนทับหลัง ที่สหรัฐอเมริกา และการบูรณะองค์ปราสาท
โดยที่ผ่านมา พบทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียชอง-มูน ลี ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งชาวบ้านหมู่บ้านเจริญสุข ต.ทัพราช ยืนยันว่า เคยพบเห็นทับหลัง และรูปหินเกาะสลักรูปสิงห์ดังกล่าว ขณะนี้นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการทวงคืนจากสหรัฐอเมริกา