xs
xsm
sm
md
lg

รวม “ศัพท์น่ารู้” พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การจัดสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งองค์ประกอบของพระเมรุมาศในหลายๆ ส่วน เป็นคำศัพท์เฉพาะที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก หรือได้ยินมาก่อน ล่าสุด คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.kingrama9.net เพื่อรวบรวมข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธี ข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงคำศัพท์น่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีด้วย

ตัวอย่างศัพท์น่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เช่น

พระเมรุมาศ อ่านว่า พระ-เม-รุ-มาด หมายถึง สิ่งปลูกสร้างโดยขนบนิยมอย่างไทย มีลักษณะเป็นเครื่องยอดขนาดใหญ่ สูง สำหรับประดิษฐานพระบรมศพ ภายในมีพระเมรุทอง ซึ่งมีรูปทรงอย่างบุษบกขนาดเล็ก เป็นที่ประดิษฐานพระโกศทรงพระบรมศพ สำหรับถวายพระเพลิง ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเมรุมาศ

ฉากบังเพลิง อ่านว่า ฉาก-บัง-เพลิง หมายถึง เครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพบนพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ มีลักษณะเป็นฉากพับได้ติดไว้ที่เสาเมรุทั้ง 4 ด้าน เมื่อจะใช้งานจึงดึงหรือยกมาปิดไว้ใช้สำหรับศพชั้นโกศเท่านั้น ถ้าเป็นศพพระราชวงศ์ใช้ฉากลายเทวดา ถ้าเป็นเมรุธรรมดาและเป็นศพข้าราชการใช้ลายเถาไม้

พระที่นั่งทรงธรรม อ่านว่า พระ-ที่-นั่ง-ซง-ทำ หมายถึง พลับพลาพิธีที่สร้างสำหรับเสด็จประทับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในงานออกพระเมรุ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ

ศาลาลูกขุน อ่านว่า สา-ลา-ลูก-ขุน หมายถึง ศาลาที่ข้าราชการไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานออกพระเมรุมาศ หรือออกพระเมรุ

ทับเกษตร อ่านว่า ทับ-กะ-เสด หมายถึง ส่วนบนของฐานที่รองรับพระพุทธรูปปางประทับนั่ง; ปะรำหลังคาตัดตาดผ้าขาวเฉพาะในงานออกพระเมรุมาศหรืออกพระเมรุ เพื่อข้าราชการยศต่ำกว่าขุนนางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานออกพระเมรุมาศหรือออกพระเมรุ

หอเปลื้อง อ่านว่า หอ-เปลื้อง เป็นคำเรียกสั้นๆ ของคำว่า หอเปลื้องเครื่องพระสุกำพระบรมศพ หรือพระศพ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของมุกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเชิญพระโกศออกพระเมรุมาศ หรือออกพระเมรุ เชิญพระบรมศพ หรือพระศพไปเปลื้องพระสุกำแล้วเชิญเข้าพระโกศอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเชิญพระโกศขึ้นพระยานมาศ ตั้งขบวนแห่ไปเข้าพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ

ซ่าง อ่านว่า ซ่าง หมายถึง คดสร้าง รูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมตามประเพณีนิยม ส่วนมากสร้างขึ้นเพื่อล้อมรอบพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ โดยเรียกพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงศาลาหรือระเบียง 2 หลังมาบรรจบกันเป็นมุมฉากว่า คดสร้าง ส่วนนี้เรียกว่า ทับเกษตร ก็มี คดสร้างนี้นิยมให้ฝาด้านนอกทึบ และด้านในเป็นระเบียงโถง ยอดของคดสร้างอาจเป็นรูปเรือนยอดหรือปักฉัตรก็มี

สุกำศพ อ่านว่า สุ-กำ-สบ หมายถึง การที่เจ้าพนักงานภูษามาลา หรือเจ้าพนักงานสนมพลเรือนเอาผ้าขาวห่อศพ และใช้ด้ายดิบมัดตราสังแล้วบรรจุศพลงโกศ หรือหีบศพ ซึ่งมีกระดาศฟางปูรองรับ เช่น เจ้าหน้าที่จะสุกำศพ ทำสุกำศพ ก็ว่า

สดัปกรณ์ อ่านว่า สะ-ดับ-ปะ-กอน หมายถึง บังสุกุล ใช้แก่ศพเจ้านาย หรือ พิธีสวดมาติกาบังสุกุลเนื่องด้วยศพ ปัจจุบันใช้เฉพาะเจ้านาย

พระยานมาศสามลำคาน อ่านว่า พระ-ยาน-นะ-มาด-สาม-ลำ-คาน หมายถึง พระราชยานขนาดใหญ่ มีคานหาม 3 คาน ใช้คนหาม 60 คน ลักษณะเป็นแท่นฐานย่อมุมด้านหน้า และด้านหลังทำเป็นเก็จ ฐานชั้นล่างเป็นฐานสิงห์ ชั้นถัดขึ้นไปประดับด้วยรูปครุฑและรูปเทพนมตามลำดับ ชั้นบนสุดทำเป็นพนักโดยรอบเว้นช่องตรงเก็จทั้งด้านหน้าและด้านหลังไว้สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลานั่งประคองพระโกศพระบรมศพ พระราชยานองค์นี้ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพ

ประชาชนที่สนใจความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีหรือคำศัพท์ต่างๆ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.kingrama9.net








กำลังโหลดความคิดเห็น