ศูนย์ข่าวศรีราชา- โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก เป็นความจริง ปีใหม่เปิดทดลองวิ่ง ก่อนเปิดวิ่งจริง 12 มกราคม หลังจากที่ล้มๆลุกๆอยู่นานหลายปี
โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก ที่ผ่านมามีการผลักดันเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาหลายยุค หลายสมัย เพื่อหวังจะย่นระยะการเดินทางจากภาคใต้ สู่ภาคตะวันออกโดยใช้เส้นทางเรือ จนกระทั่งถึงขั้นมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าไปทำการศึกษาอย่างละเอียดไว้แล้วตั้งปี 2555
ในครั้งนั้นหลายหน่วยงานโดยเฉพาะจังหวัดชลบุรีต่างเห็นชอบ และพร้อมที่จะร่วมเดินหน้าโครงการดังกล่าว ทั้งในระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือ แม้แต่ นายบุญเลิศ น้อมศิลป์ นายกเทศบาลตำบลแหลมฉบังในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครแหลมฉบังไปแล้วได้ออกตัว สนับสนุนอย่างเต็มที่ หวังเชื่อมการคมนาคมทางน้ำกับทางพื้นที่ภาคใต้ให้สั้นลง
ขณะนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี(อบจ.)มีการผลักดันให้มีการก่อสร้างที่บริเวณช่องแสมสารอำเภอสัตหีบ ส่วนเทศบาลแหลมฉบังเคยมีแนวความคิดที่จะดำเนินการที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะมีศักยภาพสามารถลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างลงไปได้มาก เพราะไม่ต้องไปลงทุนในส่วนของท่าเทียบเรือ สามารถขอใช้ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวของท่าเรือแหลมฉบังได้ ซึ่งก็จะสะดวก รวดเร็ว และประหยัดงบประมาณ แต่สุดท้ายก็เงียบไป..
จนมาถึงสมัยคสช. รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งให้กรมเจ้าท่าลุยศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก (East-West Ferry)
โดยคาดหวังว่าจะให้ ท่าเรือเฟอร์รี่แห่งนี้ จะเป็นท่าเรือที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าในเส้นทางระหว่าง พัทยา- ชะอำ-หัวหิน ซึ่งใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ต่างจากการเดินทางด้วยรถยนต์ในเส้นทางดังกล่าวจะต้องวิ่งอ้อมไปจากชลบุรี ผ่านสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม 6-7 ชั่วโมง
หลังจากได้ทบทวนผลการศึกษาก่อนหน้านี้ กรมเจ้าท่า จึงพบว่า การเชื่อมเส้นทางการคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า พัทยา-ชะอำ-หัวหิน มีความเป็นไปได้ และคุ้มค่าต่อการลงทุน และเป็นการเชื่อมต่อจากขนส่งทางบกมาเป็นขนส่งทางน้ำ นอกจากนี้ ยังได้สรุปการสำรวจจุดท่าเรือที่เหมาะสมที่สุด คือ ท่าเรือแหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี ท่าจอดเรือภัทรมารีน่า ปราณบุรี ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และหาดปึกเตียน ใน จ.เพชรบุรี
ด้านเจ้าท่าพัทยา โดย นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาพัทยา เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดเส้นทางเดินเรือเฟอร์รี่สายพัทยา-หัวหิน ว่า ***โครงการดังกล่าวจะมีการเปิดทดลองเส้นทางการเดินเรือในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2560 นี้ โดยจะใช้พื้นที่เมืองพัทยา ที่บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ในการรองรับการเดินเรือดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความพร้อมในการรองรับเรือเฟอร์รี่อย่างเต็มรูปแบบแล้ว
ในส่วนของเรือที่จะนำมาให้บริการเป็นเรือที่ทางบริษัทผู้รับสัมปทานสั่งซื้อมาจากประเทศจีน จำนวน 3 ลำ โดยในช่วงเริ่มต้นจะนำเรือ Catamaran Ferry ขนาดใหญ่ที่สุด ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้จำนวนสูงสุด 339 คน ในความยาว 38 เมตร ที่ความเร็วสูงสุด 27 นอต โดยมีการการันตีว่าจะสามารถใช้ระยะเวลาในการเดินทางระหว่าง 2 ท่า อยู่ที่ 2 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันเรือดังกล่าวกรมเจ้าท่าได้มีการตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคง รวมถึงอุปกรณ์ประจำเรือเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะใช้บริการอยู่
ทั้งนี้ ในช่วงแรกได้มีการกำหนดระยะเวลาการเดินเรือแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงเช้า จะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่จะเดินเรือจากท่าเรือท่าเทียบเรือประมงที่อำเภอหัวหิน มายังปลายทางพัทยา ส่วนขากลับจะเริ่มในเวลา 15.30 น. ที่จะแล่นออกจากเมืองพัทยาสู่ปลายที่อำเภอหัวหิน
ขณะที่ราคาอัตราค่า บริการนั้นปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเรือกลประจำทาง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของราคาต้นทุนต่างๆ ทั้งเรื่องราคาเรือ ค่าบำรุงรักษา และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ก่อนนำมาคิดอัตราค่าโดยสาร ทั้งนี้ ในวันที่ 12 มกราคม 2560 จะมีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป
เบื้องต้น คาดว่าราคาค่าโดยสารน่าจะประมาณ 1,200 บาทต่อคนต่อเที่ยว ซึ่งประเมินว่า จะมีลูกค้าจากโปรแกรมทัวร์เป็นผู้โดยสารเรือ สัดส่วนประมาณ70% และผู้โดยสารทั่วไปประมาณ 30%
ด้านผู้ประกอบการพัทยา เชื่อว่าการเดินเรือเฟอร์รี่ ครั้งนี้ จะทำให้การท่องเที่ยวพัทยากลับมาคึกคักอีกครั้งอย่างแน่นอน หลังจากต้องประสบกับปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการเมือง และสิ่งแวดล้อม