ระยอง - กลุ่ม ปตท.จัดกิจกรรมเกี่ยวข้าวพื้นที่สถาบันปลูกป่า นำไปบรรจุถุงแจกประชาชนเข้าสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันนี้ (3 ธ.ค.) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานโครงการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่แปลงวนเกษตร พื้นที่วิจัยโมเดลป่า 4 แบบ โครงการป่าวังจันทร์ สถาบันปลูกป่า ปตท. ม.1 ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายการุณ ไชยแขวน ปลัดอาวุโสอำเภอวังจันทร์ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ นายเดชา บุญวรรณ์ ตัวแทนผู้บริหารกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง คณะครู และนักเรียนเข้าร่วมโครงการคับคั่ง
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากประสบการณ์ปลูกป่าภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของ ปตท.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความรู้ในกระบวนการปลูกป่าที่เป็นแนวทางการสร้างป่าที่ยั่งยืน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะกล้าไม้จากเมล็ด ไปจนถึงการปลูกป่าให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และดูแลรักษาอย่างถูกต้องโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ผ่านโครงการรักษาป่าระยะยาว
เช่น ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เยาวชน ปตท.รักษาป่า จากความรู้ และประสบการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันปลูกป่า ปตท.ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการนำความรู้ประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูป่าที่ ปตท.มี ถ่ายทอดแก่สาธารณะนำไปสู่การช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าร่วมกัน
ทั้งนี้ โครงการป่าวังจันทร์ ในพื้นที่กว่า 351 ไร่ หนึ่งในพื้นที่รวบรวม พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ของ ปตท.เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จทรงเปิดโครงการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ วิจัยพัฒนา และถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องต่อการฟื้นฟู และจัดการป่าไม้ให้แก่ผู้สนใจ เพื่อสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนหลักวิธีในการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้ที่ถูกต้อง เพื่อขยายผลความรู้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
โครงการป่าวังจันทร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่ให้คุณค่าทั้งด้านระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม แหล่งศึกษาเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงบันดาลใจในการช่วยกันรักษาฟื้นฟูป่าไม้แก่ผู้มาเยี่ยมชม ภายในพื้นที่โครงการ 351 ไร่ ได้มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่ป่าเพื่อการเรียนรู้ 2.พื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 3.พื้นที่บ่อน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำ
สำหรับฤดูกาลปี 2559 นี้ได้นำพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดี ราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดมาทดลองปลูกในแปลงสาธิตดังกล่าว ซึ่งประสบผลสำเร็จ และให้ผลผลิตที่น่าพอใจ และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจึงได้กำหนดจัดงานลงแขกเกี่ยวข้าว ณ ป่าวังจันทร์ ครั้งที่ 2 ขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เพื่อเป็นการถ่ายทอดผลของการทดลองดังกล่าวให้ชุมชนได้นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนารูปแบบการทำเกษตรของตนเอง
โดยผลผลิตข้าวที่ชุมชนได้ร่วมกันลงแขกในครั้งนี้จ ะนำไปมอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับบรรจุถุงเป็นข้าวพอเพียงเพื่อแจกประชาชนที่ไปกราบถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ต่อไป