xs
xsm
sm
md
lg

สรุปรถไฟทางคู่โคราช-หนองคาย 2 แสนล้าน เดินรถปี 65 สร้างรายได้ปีละหมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐานเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 1 ก.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สนข.เปิดเวทีสาธารณะสรุปผลศึกษารถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน เส้นโคราช-หนองคาย 355 กม. งบกว่า 2 แสนล้าน เชื่อมขนส่งจากจีน สร้างรายได้จากท่องเที่ยวค่าโดยสารและการขนส่งสินค้าปีละกว่าหมื่นล้าน กำหนดสถานีจอด 5 แห่ง ยันศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกด้าน ทั้งเสียง ความสั่นสะเทือน จุดแยก จุดตัดเน้นความปลอดภัยคาด เดินรถได้ปี 2565

วันนี้ (1 ก.ย.) ห้องประชุมสุรนารี เอ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และภาคประชาชนภายในจังหวัดนครราชสีมา รวมประมาณ 400 คน โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ เกี่ยวกับแนวเส้นทาง รูปแบบการเดินรถ ผลประโยชน์จากโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายไพบูลย์ โชคไพรสิน ประธานโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge)เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียรี่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย มีระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางจะเป็นทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร วางขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟปัจจุบันให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน

ส่วนรูปแบบการเดินรถขนาดทางมาตรฐานมี 2 ทางเลือก ประกอบด้วย 1. การเดินรถร่วมกัน ระหว่างรถไฟโดยสารกับขบวนรถสินค้า(Mixed Traffic) ออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 200 กม/ชม. และขบวนรถสินค้าความเร็วสูงสุด 120 กม./ ชม. ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-หนองคาย รวม 4 ชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ 239,285 ล้านบาท และ 2. การเดินเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 300 กม.ต่อ ชม. โดยไม่มีขบวนรถสินค้าวิ่งร่วมด้วย ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-หนองคาย รวม 3 ชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ 235,325 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมถึงงบประมาณในการเวนคืนที่ดินกว่า 1,000 แปลงด้วย
สถานีบัวใหญ่
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ในการออกแบบได้พิจารณาข้อจำกัดต่างๆ ให้สามารถรองรับได้ทั้ง 2 แบบ ได้แก่ รัศมีโค้งราบ ความลาดชัน กำหนดมีสถานี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยเป็นสถานียกระดับทั้งหมด

กรณีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน เมื่อรวมผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงกว้างแล้ว กรณีพัฒนาโครงการแบบเดินรถร่วมกันและมีโครงข่ายทางรถไฟจากจีนมาเชื่อมโยง จะมีความคุ้มค่าและมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการใช้รถจากการเดินทางและการขนส่งสินค้า เฉลี่ยปีละ 12,800 ล้านบาท ลดเวลาเดินทางเฉลี่ยปีละ 9,900 ล้านบาท ลดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท ลดมลพิษจากภาคการขนส่งเฉลี่ยปีละ 10,900 ล้านบาท สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและค่าโดยสารเฉลี่ยปีละ 8,300 ล้านบาท และสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้า เฉลี่ยปีละ 2,200 ล้านบาท
นายไพบูลย์  โชคไพรสิน  ประธานโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน
สำหรับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการได้กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ ไว้ เช่น ด้านเสียงและความสั่นสะเทือน จะเลือกใช้เข็มเจาะที่เหมาะสม และติดตั้งกำแพงกั้นเสียงในบริเวณพื้นที่อ่อนไหว ด้านการแบ่งแยกชุมชน จะจัดให้มีทางลอดและสะพานลอยคนข้ามในบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่น และด้านการโยกย้ายเวนคืนจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ถูกเวนคืนทราบขั้นตอนการเวนคืน โดยดำเนินการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นต้น

ส่วนระยะเวลาดำเนินโครงการ เมื่อกระบวนการศึกษา ออกแบบ และจัดทำรายงานต่างๆ ครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประกวดราคาหาผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี ในการดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2565
กำลังโหลดความคิดเห็น