xs
xsm
sm
md
lg

สนข.จัดประชุมระดมความคิดเห็นรถไฟทางคู่ กับชาวเมืองอุดรฯ ครั้งที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - สนข.ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนชาวอุดรธานี ครั้งที่ 2 โครงการรถไฟทางคู่มาตรฐาน (Standard Gauge) รองรับรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย นำเสนอผลการศึกษาโครงการทั้งแนวเส้นทาง รูปแบบการเดินรถ ผลประโยชน์จากโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นไปใช้พัฒนาและก่อสร้างในอนาคต คาดเปิดให้บริการได้ปี 2565

วันนี้ (3 ก.ย. 58) ณ ห้องประชุมคริสตัล ท็อป โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล จ.อุดรธานี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานร่วมเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ประมาณ 400 คน ร่วมรับฟัง

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 โดยกระทรวงคมนาคมกำหนดแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง โดยจะเร่งผลักดันก่อสร้างทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้ เพื่อให้รถไฟเป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทาง และสร้างความได้เปรียบการแข่งขันของประเทศ

ประกอบกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนทำข้อตกลงร่วมกันพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) 1.435 เมตร เพื่อขนส่งสินค้าและผู้โดยสารภายในประเทศ เชื่อมภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับจีน โดยวางแนวเส้นทางผ่าน สปป.ลาว ทั้งรองรับการพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ตามแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคม

จากการศึกษาและออกแบบโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบขนส่งทางรางที่ทันสมัย สะดวกรวดเร็ว ตรงเวลา ปลอดภัยสูง รองรับความต้องการเดินทางของประชาชนและสินค้า เป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคต่างๆ

แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร โดยจะมีสถานียกระดับทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยแนวเส้นทางจะขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นทางอิสระ อยู่ภายในเขตทางรถไฟปัจจุบันให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน

โดยผลการศึกษาที่โครงการจะนำเสนอในวันนี้ครอบคลุมงานศึกษาความเหมาะสมทุกด้าน ทั้งการออกแบบด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม แนวเส้นทางและการแก้ไขปัญหาจุดตัด งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนสื่อมวลชน และองค์กรอิสระ รับทราบข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่ง สนข.และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะนำข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปใช้ประกอบการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า สำหรับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการได้กำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไว้ เช่น ด้านเสียงและความสั่นสะเทือน จะเลือกใช้เข็มเจาะที่เหมาะสมและติดตั้งกำแพงกั้นเสียงในบริเวณพื้นที่อ่อนไหว ด้านการแบ่งแยกชุมชน จะจัดให้มีทางรอดและสะพานลอยคนข้ามไปยังบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่น และด้านการโยกย้ายเปลี่ยนคืน จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ถูกเวนคืนจากขั้นตอนการเวนคืน โดยจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 2530

ส่วนระยะเวลาดำเนินโครงการเมื่อกระบวนการศึกษาออกแบบ และจัดทำรายงานต่างๆ ครบถ้วนแล้วตามขั้นตอนของกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้เปิดให้บริการได้ในปี 2565

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
กำลังโหลดความคิดเห็น