ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง แจงกรณีชาวบ้านร้องขอเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินที่ล่าช้ามานาน 37 ปี ล่าสุด จังหวัดตั้งคณะทำงานแล้ว รอที่ดินจังหวัดชี้ชัดเร็วๆ นี้
เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวถึงกรณีชาวบ้านร้องขอเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินที่ล่าช้ามานาน 37 ปี ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ประกอบด้วย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดชลบุรี เป็นประธาน นายอำเภอศรีราชา ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลมฉบัง นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เป็นกรรมการ และมีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา เป็นกรรมการ และเลขานุการ
ขณะนี้คณะกรรมการยู่ระหว่างการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เกิดความล่าช้าออกไป เนื่องจากประธานคณะกรรมการ (หัวหน้าสำนักงานจังหวัด) มีการโยกย้าย จึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด จึงต้องมีการขยายระยะเวลาออกไปอีก 90 วัน
เรือเอกสุทธินันท์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง และสอบปากคำชาวบ้านที่ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม 59 เรื่อง จาก 130 ราย แต่มีการมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งผู้ให้ปากคำจึงมีเพียง 59 ราย โดยข้อเรียกร้องที่ต้องการ คือ 1.ต้องการค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง 9 เรื่อง และ 2.ขอค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน 50 เรื่อง ซึ่งทั้ง 59 เรื่องยังไม่สามารถสรุปผลที่แน่ชัดได้ เนื่องจากชาวบ้านที่ให้ข้อมูลมีการยื่นสำเนาเอกสารหลักฐานแสดงต่อคณะกรรมการแตกต่างกัน เช่น สำเนาใบ ภบท.5 ภบท.6 ภบท.13 ทะเบียนการครอบครองที่ดิน และแบบแจ้งครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) โดยเอกสารต่างๆ ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สำนักงานที่ดิน
ขณะนี้ทางการท่าเรือแหลมฉบัง ได้รวบรวมสำเนาเอกสารทั้งหมดเพื่อเตรียมส่งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา ทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่าถูกต้องในสารบบราชการหรือไม่ หรือเป็นเอกสารที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องให้เวลาสำนักงานที่ดินตรวจสอบ เพราะเป็นเอกสารเก่า และมีจำนวนหลายฉบับ
“เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ออก พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินปี 2521 เนื้อที่ 6,341 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง และใช้ในกิจการท่าเรือ โดยพื้นที่เวนคืนบางส่วนได้เวนคืนทับที่ดินราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ เนื้อที่ประมาณ 1,941 ไร่ และที่ผ่านมาก็มีการปัญหาที่ดิน และล่าสุด เมื่อปลายปี 2557 มีชาวบ้าน 130 ราย ได้ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดิน และอ้างว่าครอบครองที่ดินในที่ดินราชพัสดุมาก่อนที่ กทท.จะเวนคืน ดังนั้น เพื่อให้การเป็นไปอย่างถูกต้อง และยุติธรรม จึงมีการตั้งคณะทำงานเพื่อชี้ชัดในเรื่องนี้”