xs
xsm
sm
md
lg

ประชาพิจารณ์พัฒนาหาดพัทยาใต้ ยังไร้ข้อสรุป!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประชาพิจารณ์รับความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายหาดพัทยาใต้ ครั้งที่ 2 ยังไร้ข้อสรุป

วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมืองพัทยา จัดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในโครงการศึกษาและนำเสนอแนวทางในการพัฒนากายภาพพื้นที่บริเวณชายหาดพัทยาใต้ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี หลังมอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำรายงานผลศึกษา สำรวจ ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การลงทุน และการท่องเที่ยว ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณา ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการสนองนโยบายในการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะของรัฐบาล และเป็นทางเลือกในการพัฒนา รวมทั้งรูปแบบทางกายภาพที่สนองประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ภาพลักษณ์ และสิ่งแวดล้อม โดยการจัดประชุมดังกล่าวมีผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่พัทยาใต้ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และประชาชนโดยทั่วไปเข้าร่วม

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร กล่าวว่า สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาและนำเสนอแนวทางในการพัฒนากายภาพพื้นที่บริเวณชายหาดพัทยาใต้ เพื่อระดมความคิดเห็นต่อทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่พัทยาใต้ 4 รูปแบบ ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้มาใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการดำเนินการออกแบบวางผังพื้นที่พัทยาใต้ในขั้นตอนต่อไปให้เกิดความเหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน

สำหรับทาง 4 รูปแบบมีลักษณะการดำเนินการที่แตกต่างกัน คือ 1.การรื้อถอนทั้งหมด เพื่อทำการปรับปรุงและทำประโยชน์สาธารณะในเชิงพาณิชยกรรมในขอบเขตใกล้เคียงกับพื้นที่รุกล้ำในปัจจุบันขึ้นมาทดแทน 2.การรื้อถอนอาคารบางส่วน เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำประโยชน์สาธารณะและพาณิชยกรรมขนาดเล็กทดแทนส่วนที่รื้อถอนออกไป 3.การรื้อถอนอาคารออกทั้งหมด เพื่อฟื้นฟูชายหาด สร้างสวนสาธารณะ บริการสาธารณะและพาณิชยกรรม โดยพื้นที่ก่อสร้างจำกัดอยู่เฉพาะขอบชายทะเล และ 4.รื้อถอนออกทั้งหมด เพื่อฟื้นฟูชายหาด สร้างสวนสาธารณะ บริการสาธารณะและพาณิชยกรรมขนาดเล็ก ซึ่งสุดท้ายก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเลือกรูปแบบใด เนื่องจากผู้ประกอบการระบุว่าในส่วนของอาคาร 101 รายนั้น ยังมีพื้นที่บางส่วนที่มีเอกสารสิทธิครอบครองถูกต้อง ซึ่งหากมีการรื้อถอนก็อาจส่งผลกระทบเรื่องของการทวงสิทธิครอบครองได้

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมทางคณะที่ปรึกษาได้นำเสนอวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึงทั้งพื้นที่ โดยให้ผู้ครอบครองกรรมสิทธิที่มีอยู่บางส่วนถอนสภาพสิทธิการครอบครอง และเข้าสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ตามมาตรา 8 ของประมวลกฎหมายที่ดิน วรรค 2 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากราษฎรที่เคยใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมี 2 แนวทางเลือก ได้แก่ เงื่อนไขหาการที่ดินทดแทน หรือ พ.ร.บ.ที่สามารถให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ และเงื่อนไขเลิกใช้ประโยชน์ ตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ดินรกร้างที่เอกชนสามารถจับจอง และได้รับเอกสารสิทธิครอบครองได้

ทั้งนี้ เบื้องต้นจากกระแสของผู้ประกอบการพบว่ายังไม่มีการตอบรับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากมีการร้องขอให้ผู้เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบพื้นที่โดยละเอียดเพื่อชี้แจงถึงเรื่องของกรรมสิทธิ์ในส่วนที่มีการครอบครองถูกต้อง และรุกล้ำชายหาดอีกครั้งเพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งทางคณะทำงานได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่แน่ชัด ก่อนจะนำมาชี้แจงรายละเอียดแก่ภาคประชาชนให้รับทราบ และพิจารณาความเหมาะสม ก่อนรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นเพื่อใช้ประกอบการกำหนดทิศทางในการพัฒนาต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น