ศูนย์ข่าวศรีราชา - เอกชนเสนอรัฐเข้าควบคุมราคา และคุมกำเนิดปริมาณผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวพัทยา หลังพบมีปัญหา Over Supply ขณะที่เจ้าท่าพัทยาระบุ ยอดเรือท่องเที่ยวทุกประเภทใกล้ทะลุ 2,000 ลำ แต่กฎหมายไม่เอื้อ พร้อมเร่งเมืองพัทยาจัดสร้างท่าเทียบเรือเพิ่ม หวังโยกย้ายจุดรับส่งนักท่องเที่ยวจากชายหาด สู่ท่าเรือตามมาตรฐานสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนริศ นิรามัยวงศ์ นายอำเภอบางละมุง ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการพิจารณาปรับปรุง แก้ไข อำนาจหน้าที่ กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อการจัดระเบียบท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยาใต้ เป็นประธานการประชุมคณะทำงาน ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน เพื่อร่วมพิจารณาในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องของกฎระเบียบ ข้อบังคับ และการจัดระเบียบท่าเทียบเรือพัทยาใต้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดประชุมขึ้นที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี
นายนริศ กล่าวว่า การจัดระเบียบพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยาใต้ ถือเป็นกรณีที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ และประโยชน์สูงสุดต่อภาพรวมด้านการท่องเที่ยว โดยมีคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นหลายชุดเพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขก่อนจะสรุปรายงานต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ และนำผลชี้แจงต่อแม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะเดินทางมารับฟัง และร่วมดูสภาพพื้นที่ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ด้วย โดยในส่วนของคณะกรรมการชุดนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาปัญหา ก่อนจะมีทำการปรับปรุงแก้ไข อำนาจหน้าที่ และกฎระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่าปัญหาหนึ่งที่รัฐควรเข้ามาดูแลคือ มาตรฐานการให้บริการนักท่องเที่ยวของกลุ่มผู้ประกอบการเรือโดยสาร โดยเฉพาะเรือสปีดโบต อย่างเรื่องของการควบคุมราคา เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีการกำหนดราคาที่ชัดเจนซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบได้ ขณะที่ปริมาณของเรือโดยสารเองก็ถือว่ามีจำนวนที่เข้าข่าย Over Supply หรือมีปริมาณมากเกินความจำเป็น ทำให้การควบคุม และกำกับดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยควรจะใช้กรณีของการกำหนดมาตรฐานของเรือในการขอ หรือต่อใบอนุญาตเพื่อจำกัดให้อยู่ในภาวะของความสมดุลต่อพื้นที่ และการใช้งาน
ขณะที่ นายเอกชน คันธโร ผอ.สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา กล่าวว่า สำหรับเมืองพัทยา มีพื้นที่ทางน้ำรวมกว่า 8 ตร.กม. ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเรือโดยสารที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องแล้วกว่า 1,781 ลำ แยกออกเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ 25 ลำ เรือสปีดโบต 786 ลำ นอกจากนั้น จะเป็นเรือแบบเช่าเหมาลำ เรือเจ็ตสกี เรือลากร่ม และอื่นๆ ซึ่งตามกฎหมายแล้วคงไม่สามารถทำการควบคุม หรือจำกัดปริมาณเรือที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะถือเป็นสิทธิ และเสรีของทุกคนที่จะซื้อหรือประกอบอาชีพในทะเลซึ่งถือเป็นที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียน หรือการต่อทะเบียนเรือประจำปีก็มีข้อจำกัด หรือคุณสมบัติของเรือที่ต้องมีความเหมาะสมครบถ้วน ทั้งความปลอดภัย และคุณลักษณะของเรือแต่ละชนิดที่ระบุไว้ตามกฎหมาย ซึ่งหากมีปัญหาก็คงจะไม่อนุญาต และสามารถนำมาประกอบการได้
สำหรับในส่วนของการกำหนดราคาค่าบริการของเรือสปีดโบตนั้น ก็คงเป็นเรื่องลำบากในการควบคุม เนื่องจากเรือประเภทนี้ไม่เข้าข่ายเรือกลประจำทางที่มีเส้นทางวิ่งประจำที่ชัดเจน และจะมีคณะกรรมการกลางเป็นผู้กำหนดราคา แต่เรือสปีดโบตเป็นเรือที่เข้าข่ายประเภทเรือกลเฉพาะเขต ซึ่งมีลักษณะของการเช่าเหมาลำ เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่เน้นความสะดวกสบาย และความรวดเร็ว จึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อ และผู้ให้บริการกันเอง
นายเอกราช กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดระเบียบการจอดเรือนั้นที่ผ่านมา ทางกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการจัดทำแผนพัทยาโมเดล เพื่อกำหนดจุดจอด และเส้นทางสัญจรของเรือทุกประเภทไว้แล้ว โดยปัจจุบันมีการออกกฎหมาย และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา และยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ควรเร่งรัดพิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช.คือ เรื่องของการโยกย้ายจุดรับส่งนักท่องเที่ยวของกลุ่มเรือทัวร์บริเวณชายหาดพัทยา ซึ่งพบว่ายังขาดมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยมีแผนให้ย้ายจุดไปใช้พื้นที่ของท่าเทียบเรือหลักบริเวณพัทยาใต้ เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องของมาตรการในการรองรับด้วยพื้นที่ท่าเทียบเรือในปัจจุบันสามารถรองรับได้เพียง 2 ท่า ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มเรือทัวร์ ซึ่งแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมากกว่า 3,000 คน จึงเสนอให้เร่งรัดในการจัดสร้างท่าเพิ่มเติมตามแผนเพื่อให้เกิดมาตรฐานในด้านการรับส่งนักท่องเที่ยวในแบบสากล