ศูนย์ข่าวศรีราชา - คสช.จัดหนักเตรียมสนธิกำลังกว่า 600 นาย จัดระเบียบที่จอดเรือพัทยา วันดีเดย์ 1 พฤศจิกายนนี้ ประกาศชัดย้ำต้องคืนพื้นที่สาธารณะให้แผ่นดิน หากพบฝ่าฝืนพร้อมดำเนินการเด็ดขาด ขณะจังหวัดชลบุรี สั่งการผู้เกี่ยวข้องสานนโยบายการจัดระเบียบทางทะเลร่วม ห้ามรับส่งนักท่องเที่ยวขึ้นลงเรือตลอดแนวชายหาด ลดปัญหาผลกระทบภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว
วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พ.อ.ภพอนันต์ เหลืองภานุวัฒน์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 เป็นประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนภาคส่วนราชการ ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา สำนักงานเจ้าท่าพัทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานขนส่ง เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ โดยเฉพาะกรณีของการย้ายจุดจอดเรือท่องเที่ยวจำนวนกว่า 1,200 ลำ ออกจากพื้นที่สาธารณะ 17.89 ไร่
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐในการทวงคืนพื้นที่สาธารณะ อีกทั้งยังเป็นการจัดเตรียมความพร้อมในการรองรับการจัดกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2560 ซึ่งถือเป็นกิจกรรมระดับนานาชาติ ที่มีทัพเรือจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการติดตามผลความคืบหน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีประกาศให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายเรือออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 ตุลาคมนี้
พ.อ.ภพอนันต์ กล่าวว่า การดำเนินการในครั้งนี้ต้องเกิดผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานานให้หมดไป อีกทั้งยังต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสถานที่รองรับการจัดงานระดับชาติซึ่งยังเหลือระยะเวลาการทำงานอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งในการนี้ มีเป้าหมายที่จะต้องนำพื้นที่สาธารณะส่งมอบให้เมืองพัทยาให้ได้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อทำการออกแบบ และเตรียมความพร้อมเพื่อปรับปรุงอย่างเร่งด่วน
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องหารือร่วมเพื่อกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบัน ได้ประสานขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าไปดำเนินการ โดยมีการตอบรับการสนธิกำลังพลแล้วกว่า 600 นาย ภารกิจนี้ยืนยันว่าจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่ต้องจัดการทวงคืนที่สาธารณะที่มีปัญหากลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อส่วนร่วมเป็นหลัก ไม่ได้หวังกลั่นแกล้งใคร แต่หากพบว่ามีกระแสการต่อต้าน หรือผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งก็พร้อมที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาดทันที
ขณะที่ นายชวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวเสริมว่า สำหรับเรื่องพื้นที่จอดเรือบริเวณแหลมบาลีฮายนั้น จากผลสรุปในการหารือยืนยันว่า คงจะไม่สามารถผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการใช้ในการขึ้นลงเรือในบริเวณดังกล่าวได้อีกต่อไป โดยหลังจากส่งมอบพื้นที่ให้แก่เมืองพัทยา ก็จะทำการทุบทำลายท่าขึ้นลงเพื่อปรับปรุงใหม่ทันที และให้โยกย้ายจุดขึ้นลงมาใช้พื้นที่ใหม่บริเวณที่กำหนดไว้ คือ ริมชายหาดช่วงซอยจอมเทียน 11 และจอมเทียน 14 ซึ่งไม่ไกลจากท่าเรือบาลีฮายมากนัก
ในอนาคตจะมีการพิจารณาเพิ่มจุดท่าเรือขึ้นอีก 2 แห่งเพื่อลดความแออัด ก่อนจะขนย้ายเรือไปยังจุดจอดแห่งใหม่ที่ภาคเอกชนไปจัดหากันไว้ โดยได้กำหนดระยะเวลาให้ลากจูงเรือขึ้นลงจากน้ำได้ในช่วงเวลา 20.00-05.00 น.ในแต่ละวันเท่านั้น ซึ่งหากมีการดำเนินการนอกเหนือจากเวลาที่กำหนดก็ได้สั่งการให้ทาง สภ.เมืองพัทยา และสำนักงานขนส่ง ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด
นายชวลิตร กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจพื้นที่จอดเรือของเอกชน ที่ผู้ประกอบการติดต่อขอเช่าไว้เพื่อนำเรือมาจอดบริเวณซอยกอไผ่ พัทยาใต้ ในพื้นที่กว่า 14 ไร่ ซึ่งพบว่า หลังการปรับปรุงสถานที่คงจะสามารถรองรับเรือได้จำนวนกว่า 500-700 ลำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ดังกล่าวพบว่า อยู่ใจกลางชุมชนเมือง อีกทั้งยังมีแนวถนนสาธารณะที่ค่อนข้างคับแคบแออัด และมีระยะทางห่างจากจุดขึ้นลงเรือมากกว่า 7 กิโลเมตร ซึ่งหากจะใช้พื้นที่แห่งนี้ในการจอดเรือก็อาจส่งผลกระทบต่อการจราจร และความเป็นอยู่ของประชาชนในการเคลื่อนย้ายได้ จึงเห็นว่าไม่มีความเหมาะสม ซึ่งกรณีดังกล่าวได้มอบหมายให้ทางผู้ประกอบการไปทำการจัดหาพื้นที่จอดแห่งใหม่แทน ซึ่งควรจะอยู่ใกล้เคียงกับจุดขึ้นลงเรือใหม่ โดยเฉพาะที่ดินว่างเปล่าในเขตจอมเทียน เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น
พร้อมกันนี้ จังหวัดชลบุรียังได้มอบหมายให้สำนักงานเจ้าท่าพัทยา ร่วมกับเมืองพัทยา และ สภ.เมืองพัทยา ทำการเร่งปรับปรุงพื้นที่รองรับจอดเรือบริเวณท่าเทียบเรือพัทยาใต้ เพื่อให้สามารถรองรับการเทียบเรือรับส่งได้เพิ่มขึ้นจากเดิม และจัดระเบียบการขนส่งทางทะเลใหม่พร้อมกันไปด้วย
ทั้งนี้ เพราะหลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป จะได้มีการออกคำสั่งเป็นระเบียบเพื่อยกเลิกห้ามไม่ให้มีการรับส่งนักท่องเที่ยวขึ้นลงเรือบริเวณชายหาดเมืองพัทยาอย่างเด็ดขาด เพื่อลดปัญหาการจราจรบนท้องถนน และภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่เสียหาย ซึ่งจะต้องเป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการไปในคราวเดียวกัน โดยจะอนุญาตให้มีการรับส่งนักท่องเที่ยวเฉพาะบริเวณท่าเทียบเรือได้เท่านั้น โดยทุกนโยบายจะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน และมีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป