ศูนย์ข่าวศรีราชา - พัทยา จัดประชาพิจารณ์รับฟังความความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายหาดพัทยาใต้ เสนอ 4 ทางเลือกแก้ปัญหาอาคาร 101 ราย หวังแก้ปัญหาการบุกรุก สร้างแลนด์มาร์คกหม่ ก่อนสรุปแผนชงมหาดไทย พิจารณาการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (6 ต.ค.) เมืองพัทยา จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ในโครงการศึกษาและนำเสนอแนวทางในการพัฒนากายภาพพื้นที่บริเวณชายหาดพัทยาใต้ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี หลังมอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำรายงานผลศึกษา สำรวจ ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การลงทุน และการท่องเที่ยว ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณา ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการสนองนโยบายในการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะของรัฐบาล และเป็นทางเลือกในการพัฒนา
รวมทั้งรูปแบบทางกายภาพที่สนองประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ภาพลักษณ์ และสิ่งแวดล้อม โดยการจัดประชุมดังกล่าวมีผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่พัทยาใต้ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และประชาชนโดยทั่วไปเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ หัวหน้าคณะทำงาน กล่าวว่า ในปี 2532 รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบัน “ไจก้า” เข้ามาทำการศึกษา และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองพัทยา ซึ่งผลจากการศึกษาระบุถึงผลเสียของการรุกล้ำชายหาดบริเวณอาคาร 101 ราย พัทยาใต้ และเสนอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทั้งหมด กระทั่งปี 2541 ครม.จึงมีมติให้รื้อถอนกลุ่มอาคารดังกล่าว แต่ปรากฏว่า จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนิน ารที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ด้วยหลายฝ่ายเล็งเห็นว่าแผนการรื้อถอนอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา มติ ครม.ในอดีตกลับถูกหยิบยก และรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งตามนโยบายการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน กระทั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 รมว.มหาดไทย จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานและติดตามการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบสังคมและชายหาดในเขตเมืองพัทยาขึ้น จนเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว โดยเมืองพัทยาได้มอบหมายให้ทางคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาจัดทำแผนการพัฒนากายภาพขึ้น
พร้อมเสนอขั้นตอนการดำเนินการด้านระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับการดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำชายหาดพัทยาใต้ เรื่องของการตรวจสอบเอกสารสิทธิ และการได้มาของสิทธิ รวมทั้งผลกระทบเรื่องของเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือการนำเสนอทางเลือกแนวทางการพัฒนาเปรียบเทียบกับทางเลือกตามมติ ครม.ในปี 2541 เพื่อประกอบการพิจารณา และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนสรุปผลให้แก่เมืองพัทยาต่อไป
ทั้งนี้ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เป็นการนำเสนอทางเลือกของแผนในการพัฒนาพื้นที่ต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมข้อมูล โดยไม่ได้มุ่งหวังในการหาข้อยุติแต่อย่างใด โดยมีหัวข้อให้พิจารณาใน 4 ทางเลือกหลัก ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 คือ การรื้อถอนอาคารออกทั้งหมดตลอดแนว พร้อมการจัดทำโครงสร้างขึ้นใหม่ยื่นล้ำออกไปในทะเลในระยะที่มีการรุกล้ำเดิม เพื่อจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว และพาณิชยกรรมแห่งใหม่ที่มีความหลากหลายทางธุรกิจ
รวมทั้งส่วนบริการสาธารณะ หอประชุม ลานกิจกรรม และพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งทางเลือกนี้จะใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท หรือถือว่ามากที่สุดในทางเลือกทั้งหมด ทางเลือกที่ 2 ได้แก่ การรื้อถอนอาคารออกบางส่วนตามระยะที่กำหนดประมาณ 40 เมตร จากแนวถนน พร้อมการจัดทำพื้นที่สีเขียว ส่วนบริการสาธารณะ ลานกิจกรรมและสวนสาธารณะในสัดส่วน 40% ของพื้นที่ ซึ่งจะใช้งบประมาณลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท
ขณะที่ทางเลือกที่ 3 และ 4 นั้นมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ การกำหนดให้มีการรื้อถอนอาคารออกทั้งหมดเพื่อเปิดมุมมองจากถนนคนเดินสู่ทะเลตลอดแนว พร้อมการจัดสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นแนวขนานกับชายหาด ซึ่งประกอบไปด้วย สวน และลานกิจกรรมสาธารณะ และโครงการใหม่ขึ้นมาครอบคุลมพื้นที่ริมหาดโดยไม่รุกล้ำชายหาดและทะเล ได้แก่ ส่วนพาณิชยกรรม และส่วนบริการสาธารณะ โดยทางเลือกที่ 3 จะใช้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และทางเลือกที่ 4 ในงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ เสียงของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในที่ประชุมแจงว่า พื้นที่พัทยาใต้ ถือเป็นพื้นที่ของกลุ่มประมงพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานก่อนกลายแปรสภาพกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และถือเป็นอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาในปัจจุบันที่ควรเก็บรักษาไว้ เพราะหากมีการดำเนินการรื้อถอนออกไปจริงก็น่าจะเกิดผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงในอนาคต
สำหรับนโยบายการจัดระเบียบของภาครัฐบาลเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพียงแต่ร้องขอให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และอยู่ร่วมกันได้โดยไม่สร้างความเสียหายแก่สังคม และภาพรวม ขณะที่ทางเลือกที่มีการนำเสนอนั้นคงจะเป็นทางเลือกที่ 2 ที่ค่อนข้างมีความเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม ควรมีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อเสนอทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น การรื้อถนอาคารบางส่วน โดยการให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเดิมที่อาจมีเรื่องของการจัดเก็บค่าธรรมเนียม พร้อมการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เกิดความสวยงาม และประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งควรมีการนำเสนอข้อมูลเรื่องความเป็นมาของชุมชน เรื่องของผลกระทบด้านรายได้ การลงทุน แรงงาน และความเสียหายหากพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญขาดหายไป เพื่อนำไปประกอบการนำเสนอเพื่อพิจารณาแก่ภาครัฐบาลด้วย
มีรายงานว่า สำหรับแผนดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการตรวจสอบพื้นที่พัทยาใต้ ของคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะในเขตเมืองพัทยาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 โดยจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของรัฐบาลในการตัดสินใจการแก้ไขปัญหาอาคารรุกล้ำ 101 ราย พัทยาใต้ ที่เรื้อรังมานานกว่า 20 ปีใหม่อีกครั้ง หลังจากผลการศึกษาเดิมในปี 2547 ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ด้วยติดปัญหาจาก มติ ครม.และไม่มีรายงานประกอบที่ครอบคลุมเรื่องของกฎหมาย สิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านการท่องเที่ยว
โดยจากผลสรุปของการจัดทำรายงานครั้งนี้อาจเป็นที่มาของการพิจารณาที่อาจจะออกมาในรูปแบบการกำหนดแผนโครงการพัฒนาใหม่ตามการนำเสนอ หรือการยกเลิกมติ ครม.เดิมจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากการประชุมครั้งนี้จะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีก 1 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนคณะทำงานจะทำการสรุปผลส่งต่อเมืองพัทยาเพื่อนำเสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ในการพิจารณาต่อไป