xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง 4 ยุทธศาสตร์พัฒนาน่าน 60 ตีโจทย์รัฐเทงบแก้ “เขาหัวโล้น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - ตามส่อง 4 ยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองน่านปี 60 ตีโจทย์รัฐเทงบแก้ “เขาหัวโล้น” ชี้แค่หากล้าพันธุ์ไม้มาปลูกไร้ผล แต่ต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตเกษตรกร ท่ามกลางปัญหาที่ป่าสงวนฯ-ที่อุทยานฯ ที่ครอบคลุมเกือบทั้งจังหวัด

วันนี้ (26 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชกาจังหวัดน่าน ได้นำเสนอ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดน่าน และชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 ขั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 และขั้นอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 ซึ่งจังหวัดน่านจะได้รับการจัดมีงบประมาณเพื่อการพัฒนา 246,207,500 บาท โดยมี 4 ยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดัน และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของจังหวัดน่าน ตอบสนอง-สอดรับนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญคือตอบโจทย์ให้แก่คนน่าน

โดยมี 39 โครงการ แบ่งตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดน่าน ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “เขาหัวโล้น” รวมถึงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ที่ 4 ความมั่นคงเสริมสร้างความสัมพันธ์ชายแดน ตลอดจนวางระบบบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ทั้งนี้ งบประมาณที่ถูกทุ่มลงไปที่ยุทธศาสตร์แรก คือ บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ จำนวน 15 โครงการ งบประมาณ 157,497,300 บาท จะดำเนินการในกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยส่วนร่วมของชุมชน, การส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงการรักษาผืนป่าต้นน้ำ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นคืนป่าต้นน้ำน่าน

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน บ้านเมืองราม หมู่ที่ 4 ต.นาเหลือง อ.เวียงสา, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน บ้านเหล่า หมู่ที่ 8 ต.พระพุทธบาท อ.เชียงกลาง, โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 1 อำเภอ 1 แหล่งน้ำ, โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำและก่อสร้างระบบส่งน้ำ

รวมถึงโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, โครงการพัฒนาศักยภาพทีมกู้ชีพกู้ภัย หนึ่งตำบล หนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย, โครงการฝึกอบรมเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยดินถล่ม มิสเตอร์เตือนภัย จังหวัดน่าน, โครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดน่าน (ต่อเนื่อง) , โครงการฟื้นฟูสภาพป่าการจัดทำฝาย และจัดหากล้าไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการตามวาระจังหวัดน่าน 2013-2017 สร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ, โครงการปลูกพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อเป็นแนวเขตระหว่างพื้นที่ทำกินของราษฎร และโครงการปลูกป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหา “เขาหัวโล้นเมืองน่าน” เห็นชัดเจนแล้วว่า การปลูกป่าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเป็นปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง โดยเงื่อนปมหลักคือ ทางเลือกของเกษตรกรที่มีข้อจำกัดเรื่องสภาพพื้นที่เพาะปลูก และเรื่องที่ดินทำกิน ทำให้ขณะนี้การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทางเลือก ยังติดขัดเรื่องความมั่นใจของเกษตรกรที่อยากเปลี่ยนจากข้าวโพดเป็นพืชตัวอื่นๆ

หนึ่งในแกนนำเกษตรกรจังหวัดน่านเปิดเผยว่า เมื่อโฟกัสปัญหาเรื่องเขาหัวโล้นจริงๆ จะเห็นว่า อยู่ที่เกษตรกร ไม่มีทางเลือกมากนัก ทั้งเรื่องสภาพภูเขาสูง ไม่เอื้อการปลูกพืชพื้นที่ราบ ระบบน้ำเพื่อการเกษตรก็ต้องรอแต่น้ำฝน เมื่อมีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น แต่กลับพบว่า เกษตรกรก็ติดเรื่องที่ดินทำกิน ไม่มั่นใจว่าปลูกแล้วจะตัดได้ ขายได้

“ที่ดินเมืองน่าน ร้อยละ 85 เป็นที่อุทยานฯ เป็นที่ป่าสงวนฯ แม้เกษตรกรบางรายอยากเปลี่ยนไปปลูกไผ่ ปลูกกาแฟ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะปลูก และเก็บขายได้ในพื้นที่ไร้เอกสารสิทธิ ดังนั้นโครงการต่างๆ ที่จะแก้ปัญหานี้ ถ้าแค่หากล้าไม้มาปลูกป่า มันก็ไม่ตอบโจทย์ มันต้องเน้นไปที่การสร้างอาชีพภาคเกษตร และความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทางเลือกและการยกระดับการเกษตรเชิงท่องเที่ยว การแปรรูป จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า”

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ซึ่งเป็นพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จำนวน 14 โครงการ งบประมาณ 56,966,000 บาท ซึ่งมีโครงการปรับปรุงถนนลูกรังเข้าสู่พื้นที่การเกษตรสายห้วยม่วง บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 6 ต.แสนทอง อ.ท่าวังผา, โครงการซ่อมสร้างถนนสายแยก ทล.1148-จุดผ่อนปรน สปป.ลาว บ้านใหม่ชายแดน อ.สองแคว (โครงการต่อเนื่อง) ,โครงการเส้นทางสุขภาพเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และโครงการก่อสร้างบ้านพักบริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ส่วนโครงการอีกลักษณะจะเป็นโครงการที่ส่งเสริมการผลิต การตลาดพืชเศรษฐกิจ สินค้าโอทอปสู่ตลาดอาเซียน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 18,965,400 บาท ได้แก่ โครงการขยายผลโครงการปิดทองหลังพระ 15 อำเภอ, โครงการปรับปรุงถนนลูกรังเข้าสู่พื้นที่การเกษตรบ้านนาทราย หมู่ที่ 2 สายหนองไข่กา-ทุ่งก๋า-นาทราย,โครงการพัฒนาอัตลักษณ์น่าน สรรค์สร้างเศรษฐกิจ, โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5, โครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี,โครงการของดี 8 วิถีไทย สืบสานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสล่าน่าน เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านความมั่นคงและเสริมสร้างความสัมพันธ์ชายแดนตลอดจนวางระบบบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 12,778,800 บาท ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา, โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ, โครงการจัดระเบียบสังคมในพื้นที่จังหวัดน่าน, โครงการขยายโครงข่ายติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในถนนสายหลัก

และ 30 กันยายน 59 นี้จะเป็นวันเปลี่ยนผ่านพ่อเมืองน่านอีกครั้ง โดยนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าฯ น่าน จะไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ลำปาง ขณะที่นายไพศาล วิมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จะมารับหน้าที่พ่อเมืองน่านคนใหม่แทน ต้องจับตาว่า ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์นี้ “น่าน” จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือจะกลายเป็นดังวลีที่ว่า “น่านเต๊อะ!” อีกรอบ







กำลังโหลดความคิดเห็น