xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สช.ไฟเขียวไกด์ไลน์ใช้โซเชียล “วงการสุขภาพ” แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สช. ไฟเขียว ไกด์ไลน์การใช้โซเชียลมีเดียของบุคลากรทางการแพทย์ จัดทำประชาพิจารณ์หวังสภาวิชาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ ลดการละเมิดสิทธิผู้ป่วยและจรรยาบรรณวิชาชีพ

ความคืบหน้าการร่างแนวทางปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มอบหมายให้ นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ร่าง โดยอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์จากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบต่อร่างแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และทุกภาคส่วนในสังคมในการใช้โซเชียลมีเดียในการโพสต์ข้อความ แชร์ข้อมูล หรือภาพถ่ายต่าง ๆ ให้เกิดความเหมาะสม เป็นประโยชน์ และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติต่อไป

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ มีหลักการสำคัญด้วยกัน 7 หมวด รวม 27 ข้อ สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติ หรือไกด์ไลน์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการห้าม หรือบังคับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพในการใช้โซเชียลมีเดีย แต่จะเป็นแนวปฏิบัติ หรือแนวทางที่ช่วยทำให้ทุกคน ไม่เฉพาะแต่ในวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้ตระหนักถึงการใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ด้วยการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเช่น สภาวิชาชีพ สถานพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ สามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ได้ตามบริบทของแต่ละองค์กรต่อไป

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช. กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติดังกล่าวได้ผ่านการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างรอบด้าน ทั้งองค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ และภาคีที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ และยังมีการทำหนังสือขอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 300 องค์กร และพร้อมจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายต่อไป จึงมั่นใจว่า จะได้รับความร่วมมือในการนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม สช. จะยังคงเปิดเวทีเพื่อสื่อสารกับองค์กรต่าง ๆ เช่น สภาวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อการนำแนวทางดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติต่อไปด้วย สำหรับหลักสำคัญทั้งสิ้น 7 หมวด ประกอบด้วย หลักทั่วไป หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ความเป็นวิชาชีพ การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม และการให้คำปรึกษาออนไลน์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น