xs
xsm
sm
md
lg

ผุดหลักสูตรอาชีวะ “อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์” นำร่อง วท.เชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สบส. ร่วม สอศ. ผุดหลักสูตร “อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์” เป็นครั้งแรกของไทย ระดับ ปวส. หวังสร้างบุคลากรสายอาชีพวิศวกรรมเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะ นำร่องวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่แห่งแรก ก่อนขยายผลอีก 7 จังหวัด พร้อมร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการมาตรฐาน การผลิตเครื่องมือแพทย์ของ ก.อุตฯ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน องค์ประกอบสำคัญคือ หมอดี ยาดี บริการดี สถานที่ดี รวมถึงเครื่องมือแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย เฝ้าระวัง และรักษาด้วย เช่น เครื่องมือตรวจทางห้องปฏิบัติการ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น ต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนนับหมื่นชิ้น แนวโน้มเครื่องมือเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก การวางระบบความพร้อมการดูแลมาตรฐานเครื่องมือเหล่านี้ สบส. จึงดำเนินการใน 3 ด้าน คือ 1. ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมการแพทย์ กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพ วิศวกรรมเครื่องมือแพทย์ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยเฉพาะ ขณะนี้ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์จัดทำร่างหลักสูตรสาขาอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ (Medical Electronics) เป็นวิชาเลือกเสรีของสาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม ที่มีสอนอยู่แล้วในวิทยาลัยเทคนิค

“ผู้ที่เลือกเรียนจะต้องเรียนภาคทฤษฎีในเรื่องของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในระบบบริการตั้งแต่ระดับพื้นฐานทั่วไป และเครื่องมือที่ใช้ตรวจวินิจฉัยจนถึงเครื่องมือช่วยชีวิต โดย สบส. ได้จัดผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินการฝึกภาคสนามแก่นักเรียนด้วย เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการซ่อมและบำรุงรักษา ทดสอบ และเทียบค่ามาตรฐานเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลทั้งรัฐหรือเอกชน จะทำประชาพิจารณ์ร่างหลักสูตรภายในเดือนนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอาชีวศึกษา เพื่อเห็นชอบและอนุมัติ คาดว่า จะเปิดสอนจริงได้ในปีการศึกษา 2560 โดยมอบหมายให้กองวิศวกรรมการแพทย์เป็นแกนประสานหลัก” อธิบดี สบส. กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า 2. ร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้ สบส. สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศในอนาคต ซึ่งเน้นการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพสูง และต้องผ่านมาตรฐานไอเอสโอ 10485 (ISO 10485) ทุกรายการ และ 3. ส่งบุคลากรไปศึกษาดูงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าด้านอุปกรณ์การแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าและทันสมัยมาก

นายสุรพันธ์ ชัยล้อรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ สบส. กล่าวว่า การผลิตนักเรียนอาชีวศึกษาด้านเครื่องมือแพทย์ ได้ร่วมกับ สอศ. พิจารณา คัดเลือกวิทยาลัยเทคนิคที่มีความพร้อมแล้วจะเปิดสอนแห่งแรก คือ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนสาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมอยู่แล้ว ได้ประชุมวางแผนร่วมกันแล้ว โดยจะใช้สถานที่ฝึกภาคปฏิบัติที่สำนักงานสนับสนุนบริการเขตสุขภาพที่เชียงใหม่ จากนั้นจากประเมินโครงการและขยายผลอีก 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ราชบุรี นนทบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี และ สงขลา หลักสูตรที่สอนเป็นหลักสูตรเลือกเสรี จะต้องเรียนทั้งเรื่องร่างกายมนุษย์ ระบบกลไกการทำงานอัตโนมัติของร่างกาย เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐาน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษา การเฝ้าระวัง การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย เครื่องมือช่วยชีวิต เครื่องมือสนับสนุนทางการแพทย์ และการบริหารจัดการด้านวิศวกรรมในโรงพยาบาล ผู้ที่จบหลักสูตรจะสามารถวางแผน จัดการ และพัฒนางานอาชีพตามหลักการ และกระบวนการโดยคำนึงถึงคุณภาพ การอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และยึดหลักความปลอดภัย บำรุง ซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น