xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวงในความทรงจำ “ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในหลวงในความทรงจำ “ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง” ผู้ถวายงาน เมื่อครั้งเสด็จฯ เปิดสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล จ.ชลบุรี

“มีวันหนึ่งผมจำได้แม่นว่า ได้รับโทรศัพท์จากสำนักพระราชวัง ตอนตี 5 และท่านราชเลขาฯ บอกว่ามีรับสั่งถามเรื่องน้ำเสียที่ชายหาดบางแสน ผมเองขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ตอบกลับไปว่าไม่น่ามีอะไร เพราะคืนที่ผ่านมา ทุกอย่างยังปกติ ท่านราชเลขาฯ ก็ยืนยันให้ออกไปดู เมื่อนำนักวิทยาศาสตร์ออกไปกลางทะเลก็พบขี้ปลาวาฬเข้ามาเต็มทะเลอ่างศิลาและกำลังอ้อมแหลมแท่นเข้าบางแสน วันนั้นทั้งวันก็พยายามศึกษาจนพบว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ขี้ปลาวาฬชุดนี้จะเจือจาง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชายหาด แต่สิ่งที่อยากจะเรียนให้ทราบคือ ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่า พระองค์ทรงรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะเมื่อสอบถามชาวประมง ก็บอกว่าเห็นขี้ปลาวาฬตอนตี 2-3 ซึ่งสำนักพระราชวัง คงอยากจะโทร.มาแจ้งก่อนแล้ว แต่เกรงใจพวกเราจึงรอให้เช้า ผมเชื่อว่าคืนนั้นพระองค์ไม่ได้บรรทม เพราะห่วงใยสิ่งแวดล้อม

ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา คนที่ 4 ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีโอกาสได้ถวายงานใกล้ชิด เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิด “สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา” จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2527 ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินมาในครั้งนั้นได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท เป็นแนวทางในการพัฒนา จนปัจจุบันสถาบันฯ แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งวิจัย พัฒนา และเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลหายากของประเทศ

โดยได้ย้อนภาพความประทับใจว่า พระองค์ทรงสนพระทัยในทุกเรื่อง เนื่องจากโครงการของพระองค์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่อง ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสาธารณสุข ดังนั้น เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานเปิดสถาบันฯ จึงได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในเรื่องการศึกษา เนื่องจากพระองค์เพิ่งเสร็จสิ้นพระราชภารกิจพระราชทานปริญญาบัตร ให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน หรือมหาวิทยาลัยบูรพา ในปัจจุบัน

“เพราะความที่สถาบันฯ เพิ่งก่อตั้ง เจ้าหน้าที่ 1 คน จึงต้องทำหลายหน้าที่ และผมเองก็เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ และหัวหัวหน้าฝ่ายสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม รวมทั้งยังต้องดูแลอีกหลายๆ ส่วน วันนั้นพระองค์ให้ความสนพระทัยเรื่องคุณภาพน้ำ การดูแลรักษาน้ำ และบทบาทของสถาบันฯ หรือนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล พระองค์ทรงย้ำเตือนตลอดว่า ทะเลเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ดังนั้น อะไรที่เป็นผลกระทบต่อทะเลก็จะกระทบถึงแผ่นดินด้วย และเนื่องจากก่อนหน้านั้น สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ไม่เน้นในเรื่องปลาสวยงาม หรือปลาหายาก แต่เน้นเรื่องสัตว์ทะเลที่พบในอ่าวไทย ขณะเสด็จพระราชดำเนินมา ตัวอย่างสัตว์ที่จัดแสดงจึงเป็นสัตว์ที่ได้จากอ่าวไทย และพระองค์ ยังรับสั่งถึงม้าน้ำ ว่า เมื่อทรงเรือใบมาที่สัตหีบ ม้าน้ำ มีขนาดใหญ่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปทรงไม่แน่ใจว่าจะยังมีขนาดเช่นเดิมอยู่หรือไม่”

จากนั้นเป็นต้นมา สถาบันฯ จึงสนองแนวพระราชดำริ ด้วยการจัดตั้งหน่วยวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เน้นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธ์ โดยเฉพาะม้าน้ำ ที่สามารถเพาะเลี้ยงในตู้เลี้ยงได้เป็นแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศ ภายหลังจึงได้มีการเพาะ และขยายพันธ์ปลาการ์ตูน ซึ่งเป็นปลาสวยงาม สาหร่าย หอยหวาน และตัวอ่อนปะการัง นอกจากนั้น ยังได้จัดตั้งหน่วยวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อตรวจเช็คคุณภาพสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จนถึงจังหวัดตราด

“พระองค์ยังทรงรับสั่งถามถึงประโยชน์ของทรัพยากรทางทะเลว่ามีอย่างไร ในส่วนนี้สถาบันฯ ก็น้อมนำมาจัดตั้งหน่วยวิจัยอีก 1 หน่วย คือ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ทำหน้าที่สำรวจสิ่งมีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลควบคู่ไปด้วย และเมื่อรวมกับ 2 หน่วยวิจัยที่เกิดขึ้น จึงทำให้เรารู้ว่า เรามีสมบัติอะไรในทะเล ขณะเดียวกัน ก็มีหน่วยวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล การวิเคราะห์สารสกัดจากทะเล รวมทั้งสารพิษจากแมงกะพรุน ซึ่งก็คือการวิจัยและพัฒนาต่อยอด และปัจจุบันสถาบันฯ ยังดำเนินการตามโครงการอย่างเข้มข้น”

ศ.ดร.พิชัย เล่าว่า ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระองค์ยังได้รับสั่งกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ว่า ทรงอยากเห็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มิใช่เป็นเพียงแหล่งให้ความรู้ แต่ควรเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับโครงการต่างๆ เพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ถึงกระบวนการว่า เพราะเหตุใดโครงการในพระราชดำริต่างๆ จึงเกิดได้จากวิทยาศาสตร์ ถือเป็นพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก

และจากพระราชดำรัสในวันนั้น สถาบันฯ จึงเดินหน้าสร้างเครือข่ายในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งสร้างความร่วมมือกับชมรมประมงเรือเล็ก กลุ่มชาวบ้าน และเอกชนที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออก เช่น โรงกลั่นน้ำมัน อบต. อบจ.เทศบาลต่างๆ เพื่อให้เข้ามาสนับสนุนทั้งงบประมาณ และบูรณาการสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

“การทำหน้าที่เป็นผู้ถวายรายงานการดำเนินงานของสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม และตามเสด็จฯ ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทางทะเลในวันนั้น สิ่งแรกที่ประทับใจ คือ พระองค์ใช้เวลาอยู่กับเรานานมาก ด้วยความสนพระทัยในทุกๆ จุด และทุกคำถามที่รับสั่งสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ รวมทั้งพระวิสัยทัศน์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคำถามเรื่องสุขภาพขของทะเลไทย พระองค์รับสั่งเสมอว่า ทรัพยากรทางทะเลต้องช่วยกันดูแล เพราะไม่ใช่แค่เป็นสมบัติของคนไทย แต่เป็นสมบัติของคนทั้งโลก หากทะเลไทยเสียหาย ทะเลในส่วนต่างๆ ก็เสียหายด้วย”

ศ.ดร.พิชัย สะท้อนภาพการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า เป็นการทรงงานเพื่อตอบโจทย์ เพราะจะทรงทราบตั้งแต่ต้นของปัญหาว่าเกิดจากอะไร และพระองค์ยังทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทำอะไรต่อมิอะไรให้แก่คนไทยมาตลอดพระชนมชีพ และมีอยู่ไม่กี่สิ่งที่พระองค์ขอจากคนไทย แต่ลูกๆ ของท่านกลับไม่เคยสนใจว่าพระองค์ทรงขออะไร

“สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานเมื่อครั้งออกมหาสมาคม ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีประชาชนมารอรับเสด็จเป็นล้านคน และมีข้าราชการเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก คือ 1.ท่านขอให้พวกเรามุ่งดี มุ่งเจริญต่อกันด้วยเมตตาธรรม แต่เราก็ทะเลาะกันถวายท่าน 2.ท่านขอให้พวกเรามีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งก็คือ สามัคคีธรรม แต่เราก็ไม่ค่อยจะสามัคคีกัน 3.ท่านขอให้พวกเราช่วยกันแก้ไขข้อขัดแย้งทั้งหลายโดยธรรม เรียกว่า ยุติธรรม คือ ยุติทุกเรื่องโดยธรรม แต่เราก็ยุติทุกเรื่องด้วยตัวหนังสือ 4.ท่านขอให้พวกเราตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจ ด้วยสุจริตธรรม แต่เราก็ไม่สนใจ และหากพวกเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ก็ควรพร้อมใจกันปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง”


กำลังโหลดความคิดเห็น