xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เผย 8 บุคคลในภาพถวายงาน “พระราชินี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วธ. พบ 8 บุคคลในภาพถวายงาน “พระราชินี” แล้ว ทุกคนเผยรู้สึกปลาบปลื้ม ส่วน “ดอกไม้” เผยความรู้สึกได้รับความเมตตาที่พระองค์ช่วยเหลือลูกที่ป่วย

วันนี้ (8 ส.ค.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตามที่ วธ. ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ กิจกรรมตามหาบุคคลในภาพที่ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 8 ภาพ นั้น ขณะนี้ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ว่า สามารถค้นหาบุคคลในภาพได้ครบทุกคนหมดแล้ว ได้แก่ ภาพที่ 1 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2523 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงหยอดตาพระราชทานแก่เด็ก ซึ่งมารับการตรวจรักษาจากแพทย์ที่โดยเสด็จพระราชดำเนิน ระหว่างการทรงเยี่ยมราษฎรบ้านหนองม่วง อ.ส่องดาว จ.สกลนคร บุคคลในภาพ คือ นางดอกไม้ คำวงษ์ ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ภาพที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2525 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภูไท ต.บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ บุคคลในภาพ คือ นางคำใหม่ โยคะสิงห์ ปัจจุบันประกอบอาชีพแม่บ้าน

ภาพที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2535 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานภาพพุทธประวัติแก่ผู้แทนครู เพื่อนำไปประกอบการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กนักเรียน ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนวัดยั้งเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ บุคคลในภาพ คือ นางจันทร์ฉาย ดวงจันทร์ ปัจจุบันประกอบอาชีพครูโรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะด๋อย จ.เชียงใหม่ ตำแหน่งครูวิทยฐานะเชี่ยวชาญ

ภาพที่ 4 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2540 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรแบบจำลองในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เส้นทางขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ณ สนามเฮลิคอปเตอร์ ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ บุคคลในภาพ คือ รศ.ศิริชัย หงส์วิทยากร ปัจจุบันประกอบอาชีพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ภาพที่ 5 เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2541 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรการประกวดผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ ณ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส บุคคลในภาพ คือ นายสะมะแอ กะนิ ปัจจุบันประกอบอาชีพทำสวน

ภาพที่ 6 เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังตามพระราชดำริ ณ บ้านปาตาตีมอ ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บุคคลในภาพ คือ นายอูเซ็ง สะแลแม ปัจจุบันประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง

ภาพที่ 7 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรในโครงการส่งเสริม ศิลปาชีพบ้านทรายทอง หมู่ที่ 11 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร บุคคลในภาพ คือ นางวาสนา แก้วหานาม ปัจจุบันประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป

ภาพที่ 8 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2550 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ณ พิพิธภัณฑ์เฟอล์กเคอร์คุนเดอ ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บุคคลในภาพ คือ คุณหญิง Barbara Margret Rose Riepl ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประจำนครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นางดอกไม้ คำวงษ์ บุคคลในภาพที่ 1 กล่าวว่า ขณะนั้นได้นำบุตรสาววัย 5 เดือน 22 วัน ที่มีอาการตัวร้อน มีไข้สูง พระองค์ทรงใช้ผ้าประคบหน้าผากบุตรสาวเพื่อลดอาการไข้ พร้อมทรงหยอดตา และยังรับบุตรสาวเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดรถนำส่งโรงพยาบาลสกลนคร ซึ่งขณะนั้นที่ อ.ส่องดาว ยังไม่มีโรงพยาบาล บุตรสาวได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลเป็นอย่างดีจนหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ จึงเดินทางกลับบ้านได้ ตลอดระยะเวลาที่อยู่โรงพยาบาล พระองค์ทรงพระราชทานข้าว อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเงินสดจำนวนหนึ่ง ในวันที่กลับจากโรงพยาบาลนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ถ้าวันนั้นไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านแล้ว บุตรสาวอาจจะไม่มีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้ และยังได้มีโอกาสเป็นสมาชิกกลุ่มปักผ้าของศูนย์ศิลปาชีพบ้านทรายทอง ทำให้มีรายได้เสริมแก่ครอบครัวหลังเสร็จฤดูทำนา ทุกวันนี้ตนเองและครอบครัวรักและเทิดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าตราบชีวิตจะหาไม่

นางคำใหม่ โยคะสิงห์ บุคคลในภาพที่ 2 กล่าวว่า ยังจำความประทับใจที่ได้มีโอกาสไปรับเสด็จฯถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิดได้ ครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านดงสวน มีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าให้ไปรับเสด็จฯ และจะไปเยี่ยมที่บ้านโพน ซึ่งเป็นบ้านของตนเองเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งชาวบ้านก็ได้จัดการแสดงฟ้อนผู้ไทย รับเสด็จฯ พระองค์ทรงฉายพระรูปร่วมกับตนเองและชาวบ้านทุกคนต่างดีใจมาก และยังมีรับสั่งว่าไม่อยากกลับเลย อยู่ที่นี่แล้วสนุก ส่วนตัวรักพระองค์มาก ได้เห็นท่านแล้วมีความสุข และด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทำให้ชาวผู้ไทยบ้านโพน มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ้าไหมแพรวาที่กำลังจะหายไปก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จนได้รับฉายา ผ้าไหมแพรวาราชินีแห่งไหม

นางจันทร์ฉาย ดวงจันทร์ บุคคลในภาพที่ 3 กล่าวว่า เมื่อครั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามงานในพระราชดำริ และทรงเยี่ยมเยียนประชาชนที่ โรงเรียนวัดยั้งเมิน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ตนเองได้เป็นผู้แทนของโรงเรียนสถานศึกษาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯมอบเอกสารเพื่อการศึกษาจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน และถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯสร้างความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะแม้ว่าตนเองจะเป็นครูในถิ่นทุรกันดาร เป็นประชาชนตัวเล็ก ๆ พระองค์ท่านยังเสด็จฯไปถึง เหมือนกับคำพูดที่ว่า ไม่มีพื้นที่ตรงไหนที่ในหลวงและราชินีจะไปไม่ถึง พระองค์จะได้ยินเสียงเราเสมอส่วนตัวรักและเทิดทูนพระองค์ท่านอย่างสุดหัวใจ ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นประชาชนไทย ใต้เบื้องพระยุคลบาท และขอปฏิญาณว่า จะขอเป็นข้าราชการในพระองค์ท่าน ที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี จะสนองงานของพระองค์ท่านอย่างสมศักดิ์ศรีในการเป็นข้ารองพระบาทตลอดชีวิตนี้หาไม่

ด้าน รศ.ศิริชัย หงษ์วิทยากร บุคคลในภาพที่ 4 กล่าวว่า ขณะนั้นได้เป็นตัวแทนภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ถวายรายงานบรรยายสรุปโครงการการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เส้นทางขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ปี 2539 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทัพบก และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยคณาจารย์ และนักศึกษาได้จัดทำหุ่นจำลอง และออกแบบวางผัง เน้นการปลูกไม้ป่าแห่งดอยสุเทพ ที่ทรงโปรด 2 ชนิด คือ เสี้ยวดอกขา และนางพญาเสือโคร่ง และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสองข้างทาง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจมากโดยได้พระราชทานแนวพระราชดำริ และนำพสกนิกรปฏิบัติตลอดทุกปีที่ทรงเสด็จเยือน จ.เชียงใหม่ และประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

นายสะมะแอ นามสกุล กะนิ บุคคลในภาพที่ 5 กล่าวว่า ยังจำความปลาบปลื้มใจ ไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด ณ ขณะนั้น พระองค์ทรงทอดพระเนตร การประกวดผลิตภัณฑ์เรือกอและของสมาชิกมูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสิริกาญจนทักษิณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งคนได้รับพระราชทานให้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านตรัสว่าเรือกอและสวยงามมาก แต่เมื่อครูฝึก ทำเรือกอและเสียชีวิตลง ตนเองจึงเปลี่ยนอาชีพจากการทำเรือกอและเป็นทำย่านลิเภา

นายอูเซ็ง สะแลแม บุคคลในภาพที่ 6 กล่าวว่า ยังจำความประทับใจที่ได้มีโอกาสรับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ ได้เสด็จฯมาเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ช่วงที่พระราชินี เสด็จฯมานั้นปลาของชาวบ้านแถวนั้นได้เกิดตายทั้งกระชัง เนื่องจากน้ำที่ทางชลประทานของไม้แก่นได้ปล่อยมาเป็นน้ำเปรี้ยว อีกทั้งน้ำในเขื่อนมีปริมาณมากจึงปล่อยน้ำมา เพราะกลัวว่าน้ำจะล้นเขื่อน ท่านจึงมาถามความเดือดร้อนจากราษฎรที่เลี้ยงปลากะพง และตอนนั้น สมเด็จพระราชินีได้ทอดพระเนตร และถามถึงปัญหาในการเลี้ยงปลา ซึ่งตนเองได้ตอบเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงปลา และได้นำปลากะพง 10 ตัว ไปทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์ด้วย

นางวาสนา แก้วหานาม บุคคลในภาพที่ 7 กล่าวว่า ตนเองยังจำความประทับใจที่ได้เข้าเฝ้าฯอย่างไม่ลืมเลือน ครั้งนั้นตนได้รับการคัดเลือกจากผู้ใหญ่บ้านผ่านทางหัวหน้าโครงการศูนย์ศิลปาชีพ บ้านทรายทอง ให้เข้าเฝ้าฯ เพราะมีฐานะยากจน พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้มีอาชีพ มีรายได้ ช่วยเหลือครอบครัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และยังทรงรับเข้าเป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านทรายทอง กลุ่มปักผ้าอีกด้วย และในวันนั้น พระองค์ท่านได้พระราชทานผ้าสำหรับปักพร้อมอุปกรณ์และภาพตัวอย่างเป็นภาพดอกบัวอยู่กลางบึง 4 ผืน เพื่อนำไปปัก มีรับสั่งว่า เป็นการบ้าน ซึ่งวันนั้นตนเองและครอบครัว ต่างปลาบปลื้มยินดีซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ ทำให้ตนเองและชาวบ้านที่ยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน ทำให้ได้มีงานทำ มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น