xs
xsm
sm
md
lg

ใช้หมูเสียบไม้ล่อ คนเชียงใหม่ล่า “ต่อหัวเสือ” ปรุงเมนูเด็ด-ขายแพงกว่าเนื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - คนเชียงใหม่ก็นิยม รวมกลุ่มงัดภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้เนื้อหมูเสียบไม้ปักล่อ ส่องกล้องดูแม่ต่อหัวเสือ ก่อนเสี่ยงตามเก็บตัวต่อทำเมนูเด็ด หรือขายได้ในราคาแพงกว่าเนื้อ บอกเก็บได้แล้วเหลือรังส่วนบนทิ้งไว้ให้แม่ต่อทำรัง รอกลับมาเก็บได้อีก

วันนี้ (10 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่เฉพาะแต่ผู้คนหลายจังหวัดในภาคอีสานเท่านั้นที่นิยมเปิบ “ต่อหัวเสือ” จนกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านบางพื้นที่ในช่วงใกล้เทศกาลออกพรรษาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แม้ว่าจะเป็น “อาชีพเสี่ยงตาย” ก็ตาม เพราะบางจังหวัดต่อหัวเสือมีราคาสูง (อ่านเรื่อง “มาแล้ว! เมนูเด็ดรับออกพรรษา “ต่อหัวเสือ” อ.ปลาปาก รังละ 2,000 บาท” http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000100608)
ขณะที่ชาวบ้านแม่ดอกแดง ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ก็นิยมรวมกลุ่มกันออกล่าตัวต่อหัวเสือที่มาทำรังตามป่าละเมาะริมเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด มาทำเมนูเด็ด หรือขายให้นักเปิบเช่นกัน

โดยชาวบ้านที่แม่ดอกแดงจะใช้เนื้อหมูเสียบไว้ปลายไม้ นำไปวางตามริมสันเขื่อนล่อแม่ตัวต่อที่บินออกจากรังมาหากิน มากัดเนื้อหมูนำไปป้อนลูกบริเวณรังตามต้นไม้ พร้อมใช้กล้องส่องทางไกลเฝ้าดูพฤติกรรม หากพบตัวต่อหัวเสือบินไปกลับไม่เกิน 2 นาทีแล้วบินกลับมาใหม่ก็จะทราบว่ารังอยู่ไม่ไกลจากจุดที่มากัดเนื้อหมู จากนั้นชาวบ้านก็จะตามไปค้นหา เมื่อพบก็จะกลับมาเอารังภายหลัง

นายสมชาย อินต๊ะอาจ อายุ 44 ปี ช่างประกอบโคมไฟโรงงานเซรามิก บอกว่า มักจะใช้ช่วงที่ว่าง หรือวันหยุด ร่วมกับเพื่อนในหมู่บ้านหลายคนออกมาล่าตัวต่อหัวเสือเพื่อนำมาปรุงอาหารรับประทาน หรือหากได้มากก็จะนำไปแบ่งขายให้คนในหมู่บ้านกิโลกรัมละ 400 บาท ซึ่งแพงกว่าเนื้อ เพราะตัวต่อหัวเสือเป็นที่นิยมรับประทานของชาวบ้านหลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยนำไปตำน้ำพริกสุดยอดเมนูพื้นบ้าน

แต่การล่าต่อหัวเสือ เวลาที่ไปเอารังต้องระวังเป็นอย่างมาก ตัวต่อจะมีพิษรุนแรงมาก หากถูกต่อหัวเสือต่อยหลายตัวอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องใส่ชุดที่มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกต่อย และจะไม่ใช้ไฟเผา แต่จะสวมชุดเข้าไปยกรังออกจากกิ่งไม้ใส่ในกระสอบปุ๋ย และให้เหลือรังด้านบนไว้เพื่อให้ตัวต่อทำรังต่อ ซึ่งสามารถกลับมาเอารังได้อีกครั้งภายหลัง





กำลังโหลดความคิดเห็น