พระนครศรีอยุธยา - ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา ลงนามร่อนหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทาน ขอผันน้ำน้ำท่วมเข้าทุ่งผักไห่ หลังเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งท่วมสูงในชุมชนริมแม่น้ำน้อย ขณะที่ผู้ว่าฯ ปทุมธานี หารือมาตรการป้องกันน้ำท่วมจังหวัด สำรวจจุดเสี่ยงพร้อมวางแผนรัดกุม และสั่งผันน้ำ 7 ล้าน ลบ.ม.เข้าสระเก็บน้ำพระราม 9 รับมือเขื่อนป่าสักฯ ระบายลงมา ด้านกรมชลฯ เตรียมรับมือฝนอีกระรอกช่วงตุลาคม
วันนี้ (3 ต.ค.) นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามออกหนังสืออย่างเป็นทางการเสนอต่ออธิบดีกรมชลประทาน เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เปิดประตูระบายน้ำ และท่อระบายน้ำ คือ ประตูระบายน้ำลาดชะโด ประตูระบายน้ำบางแก้ว ประตูระบายน้ำมะขามเทศ ประตูระบายน้ำลาดชิด ท่อระบายน้ำหนองตะเกียง ท่อระบายน้ำหนองควาย เพื่อผันน้ำท่วมเข้าทุ่งผักไห่ อ.ผักไห่ ทั้งนี้ เนื่องจากเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งท่วมสูงในชุมชนริมแม่น้ำน้อย โดยเฉพาะในเขต อ.ผักไห่ อ.เสนา และ อ.บางบาล
นอกจากนี้ ในที่ประชุมอำเภอผักไห่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และทีมประชารัฐก็ได้ลงมติว่า ทุ่งผักไห่ เนื้อที่กว่า 130,000 ไร่ ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังหมดสิ้นแล้ว และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนของชาวบ้านในชุมชนริมน้ำ รวมถึงต้องการน้ำไว้สำรองใช้ในพื้นที่แก้มลิงยามขาดแคลน อีกทั้งเพื่อให้น้ำท่วมได้ตัดวงจรชีวิตของหนูนา และเพลี้ยซึ่งเป็นศัตรูข้าว ดังนั้น จึงขอให้กรมชลประทานเร่งสั่งการให้สำนักชลประทานที่ 12 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวเปิดประตูน้ำริมแม่น้ำน้อย เพื่อผันน้ำท่วมเข้าทุ่งผักไห่ ได้แก่ ประตูน้ำลาดชะโด บางแก้ว มะขามเทศ ลาดชิด หนองตะเกียง และคลองควาย รวมถึงท่อลอดต่างๆ
วันเดียวกัน ที่สำนักงานโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเข้าประชุมหารือมาตรการป้องกันน้ำท่วมใน จ.ปทุมธานี โดยจากการสำรวจสภาพน้ำที่ไหลผ่าน จ.ปทุมธานี ทุกเส้นทาง และจุดเสี่ยงที่คาดว่าน้ำจะเข้าท่วม อีกทั้งวางแผนเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน
“ในวันนี้ได้เดินทางมาดูสระเก็บน้ำพระราม 9 ว่ายังคงสามารถผันน้ำมาเก็บไว้ในนี้ได้อีกเท่าไร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า สระดังกล่าวสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะผันน้ำมาเก็บเพิ่มอีก 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้น้ำในสระมีปริมาณ 31 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเกษตรกร และชาวบ้านในพื้นที่เขต อ.คลองหลวง และ อ.หนองเสือ ไม่ให้น้ำที่ถูกระบายมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในช่วงที่มีน้ำมาก”
ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน ว่า ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง มีปริมาณน้ำร้อยละ 62 หรือประมาณ 44,147 ล้านลูกบาสก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่เขื่อนสำคัญลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีน้ำร้อยละ 75 เขื่อนสิริกิตติ์ มีน้ำร้อยละ 75 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำร้อยละ 77 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำร้อยละ 86 ส่วนการระบายน้ำเขื่อนต่างๆ ได้ลดการระบายน้ำลง โดยเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำวันละ 1 ลบ.ม. เขื่อนสิริกิตติ์ วันละ 2 ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำมากที่สุดวันละ 40 ลบ.ม. เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 40 ลบ.ม. และจะพยายามไม่ให้กระทบต่อบริเวณท้ายเขื่อน อ.ท่าเรือ จ.ระนครศรีอยุธยา ต่อเนื่องไปจนถึงทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,998 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ผ่าน จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ อ.บางหลวงโดด และ อ.บางบาล มีปริมาณน้ำสูงกว่าตลิ่งลึก 1.36 เมตร อ.บางบาล 63 เซนติเมตร พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จึงสั่งการว่าหากปริมาณน้ำฝนด้านเหนือลดน้อยลง ส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนลดลง ให้กรมชลประทานพิจารณาลดการกระบายน้ำผ่านเขื่อน โดยวันนี้ได้ลดการระบายน้ำเหลือ 1,698 ลูกบาสก์เมตร/วินาที
นายทองเปลว กล่าวว่า ช่วงเดือนตุลาคมคาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นอีก กรมชลประทานเตรียมระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1 ล่วงหน้าไว้แล้ว รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ พื้นที่ไหนต้องป้องกัน ปริมาณน้ำที่จะเข้าแต่ละพื้นที่ควรมีจำนวนเท่าใด ช่วงเวลาใด เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ให้พื้นที่รอการเก็บเกี่ยวได้รับผลกระทบจนกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในคันกั้นน้ำ