พระนครศรีอยุธยา/อ่างทอง - อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควงผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยาคนใหม่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม 2 อำเภอ คือ อำเภอเสนา และผักไห่ หลังพบทั้ง 2 อำเภอมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากสุด พร้อมสั่งกำชับชลประทานบริหารน้ำให้เป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องของการปิด-เปิดประตูระบายน้ำที่เป็นปัญหามานาน ส่วนที่อ่างทอง ผู้ว่าฯ นำหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่เดินลุยน้ำแจกถุงยังชีพช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม
เมื่อเวลา 16.00 น.วันนี้ (2 ต.ค.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วย นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคนใหม่ ที่เพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งวันนี้เป็นวันแรก ได้ลงพื้นที่พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำใน 2 อำเภอ คือ ที่ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด วัดโบสถ์ล่าง อำเภอเสนา และประตูระบายน้ำลาดชะโด อำเภอผักไห่ หลังพบว่า อำเภอเสนา มีประชาชนได้รับผลกระทบมากที่สุดรวม 9 ตำบล 67 หมู่บ้าน 5,197 ครัวเรือน ขณะที่อำเภอผักไห่ รวม 10 ตำบล 57 หมู่บ้าน 1,762 ครัวเรือน แต่ยังไม่ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่วันแรกของการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รู้สึกเป็นห่วงประชาชนทั้ง 7 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง จึงกำชับให้ชลประทาน รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการปิด-เปิดประตูระบายน้ำที่เป็นปัญหามานาน ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มมีการเปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่งรับน้ำบ้างแล้ว เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลสู่บ้านเรือนพี่น้องประชาชนให้น้อยลงเป็นการเบื้องต้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น หลังจากนี้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งมีการควบคุมขอบเขตการทำนาของพี่น้องเกษตรกรให้ตรงตามระยะเวลาของช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มากที่สุด หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ด้าน นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อผันน้ำเข้าไปยังทุ่งต่างๆ ที่ใช้เป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ ประกอบด้วย ประตูลาดชะโด ประตูลาดชิด ประตูบางแก้ว อำเภอผักไห่ และประตูเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา โดยเป็นการค่อยๆ เปิดทีละน้อยเข้าไปยังพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน
ส่วนการเปิดประตูระบายน้ำในจุดอื่นๆ ก็จะประเมินตามการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร หากพื้นที่ใดเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก็จะทยอยระบายน้ำเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมดแล้วเสร็จภายในช่วงปลายเดือนนี้
“หลังจากนั้นจะสามารถผันน้ำเข้าไปภายในทุ่งนาที่เป็นพื้นที่แก้มลิงทั้งหมดได้เต็มที่ก็จะสามารถรองรับมวลน้ำขนาดใหญ่จากปริมาณน้ำจากภาคเหนือที่คาดการณ์ว่า จะมีฝนตกหนักในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องระบายน้ำเข้าไปในทุ่งรับน้ำ แต่หากยังมีเกษตรกรที่ยังเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ทัน และได้รับความเสียหาย ก็จะมีการเยียวยาให้เกษตรกรตามระเบียบของทางราชการต่อไป ซึ่งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น นอกจากนี้แล้ว ขณะนี้กรมชลประทาน ยังมีการควบคุมน้ำด้วยการลดปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ลดน้อยลง จากเดิมประมาณ 1,998 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้เหลือประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้บ้าง” นายโบว์แดง กล่าว
ส่วนที่จังหวัดอ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ว่า วันนี้ระดับน้ำได้ลดลดลงจำนวน 30 เซนติเมตร ล่าสุด ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง สูง 7.27 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร ไหลผ่าน 1,883 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ล่าสุด จังหวัดอ่างทอง มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมรวม 3 อำเภอ 12 ตำบล 34 หมู่บ้าน จำนวน 885 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,644 ไร่
ขณะที่ นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นางทักษณิภร ปุตระเศรณี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง พร้อมหัวหน้าหน่วยราชการได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลจำปาหล่อ อำเภอเมืองอ่างทอง จำนวน 38 ราย พร้อมเดินลุยน้ำไปเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านของ นางประยูร แหนบทอง อายุ 74 ปี และนายคำนึง แหนบทอง อายุ 79 ปี ที่ประสบภัยน้ำท่วม และยังมีโรคประจำตัวไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ พร้อมพูดคุยให้กำลังใจ นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้ และประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป