xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาลเมืองอ่างทองระดมวางแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ ย่านการค้า ศูนย์ราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - เทศบาลเมืองเมืองอ่างทอง เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่เสริมแนวความแข็งแรงของกำแพงริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอด 2 ฝั่ง ย่านเขตเศรษฐกิจ การค้า ศูนย์ราชการ หลังน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นไม่หยุด ด้านเขื่อนป่าสักฯ ยังไม่มีแนวโน้มปล่อยน้ำเพิ่ม ยันระดับปัจจุบันไม่กระทบจุดรับน้ำ แต่มีพื้นที่เสี่ยงคือ อำเภอท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา



วันนี้ (30 ก.ย.) นายจิระวัฒน์ ปัญญาประเสริฐกุล รักษาการผู้อำนวยการกองช่างเทศบาลเมืองอ่างทอง ได้นำเจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ได้เร่งทำการเสริมความแข็งแรงตามแนวกำแพงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดแนวทั้ง 2 ฝั่ง ที่เป็นย่านธุรกิจ การค้า และศูนย์ราชการ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร หลังจากน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีภาวะเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง โดยทางเจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลเมืองอ่างทอง ได้นำแท่งแบริเออร์มาปิดทางขึ้นลงตามช่องกำแพงริมแม่น้ำแล้วใช้พลาสติกคลุมแล้วล้อมทับด้วยกระสอบทรายเพิ่มความแข็งแรง

ด้านสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านจังหวัดอ่างทองวันนี้ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทางจังหวัดได้ประกาศเตือนว่า จะมีน้ำเพิ่มปริมาณขึ้นอีกประมาณ 50-70 ซม.ล่าสุด ที่สถานีวัดน้ำชลมาตร C 7A บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง น้ำไหลผ่าน 1,989 ลบ.เมตร/วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 7.55 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร ทั้งนี้ จังหวัดอ่างทอง ยังมีผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก และอำเภอเมือง 10 ตำบล 30 หมู่บ้าน 583 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบเสียหายแล้ว 12 ตำบล 3 อำเภอ จำนวน 3,644 ไร่ มีอำเภอโพธิ์ทอง อำเภอแสวงหา และอำเภอป่าโมก

ด้านนายปัญญา กัลปสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันเขื่อนป่าสักฯ ได้เพิ่มระดับระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนในอัตรา 460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกชุกในพื้นที่เหนือเขื่อน จึงทำให้ต้องเร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณฝนในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ทั้งนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปล่อยในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น และจะคงระดับเช่นนี้ไว้ต่อเนื่องไปอีกระยะจนกว่าปริมาณน้ำจะเกินขีดจำกัดที่เขื่อนสามารถรองรับได้ สำหรับการระบายน้ำที่ระดับ 460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นายปัญญา ยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อจุดรับน้ำท้ายเขื่อนอย่างแน่นอน เพราะห่างจากระดับวิกฤตที่ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถึง 240 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเบื้องต้นภาพรวมยังไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ แต่เจ้าหน้าที่ได้ออกประกาศเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มวลน้ำดังกล่าวไหลผ่านให้เตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ไว้แล้ว โดยเฉพาะที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นพื้นที่ริมตลิ่งต่ำ และเป็นจุดเสี่ยงจุดแรกที่จะได้รับความเสียหายหากปริมาณน้ำมีมาก




กำลังโหลดความคิดเห็น